ผลของแสงและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดต่อแอคติวิตีของเอนไซม์พินิลอลานีน แอมโมเนีย-ไลเอสและการพัฒนาสีแดงในเปลือกผลมะม่วงพันธุ์เคนท์
วารุณี วงค์ชมภู
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 154 หน้า
2543
บทคัดย่อ
ผลของแสงและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดต่อแอคติวิตีของเอนไซม์พินิลอลานีน แอมโมเนีย-ไลเอสและการพัฒนาสีแดงในเปลือกผลมะม่วงพันธุ์เคนท์
การทดลองครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของแสงและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบางชนิดต่อแอคติวิดีของเอนไซม์ฟีนิลอลานีน แอมโมเนีย-ไลเอส (PAL) และปริมาณรงควัตถุแอนโทไซยานินทั้งหมดที่สร้างขึ้นในระหว่างการพัฒนาสีแดงในเปลือกผลมะม่วงพันธุ์เคนท์ (60-110 วันหลังดอกบาน) แสงมีผลส่งเสริมการสร้างแอนโทไซยานินและแอคติวิตีของเอนไซม์ PAL ในเปลือกผล โดยผลบนต้นในกรรมวิธีที่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ (ชุดควบคุม) มีปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าในกรรมวิธีที่ไม่ได้รับแสง (ชุดห่อผล) ซึ่งพบว่ามีปริมาณคงที่ตลอดการพัฒนาของผล ในระหว่างการพัฒนาของผลแอคติวิตีของ PAL มีการเพิ่มสูงขึ้นสองครั้งโดยกรรมวิธีที่ได้รับแสงมีค่าสูงกว่าในกรรมวิธีห่อผล การให้ผลได้รับแสงเพิ่มมากขึ้นโดยใช้แผ่นสะท้อนแสงมีผลทำให้แอคติวิตีของ PAL และปริมาณแอนโทไซยานินทั้งหมดสูงมากยิ่งขึ้นกว่าอีกสองกรรมวิธีดังกล่าว การให้ ethephon หรือ ABA ในระดับความเข้มข้น 100 และ 200 ppm แก่ผลที่มีอายุ 60 วันหลังดอกบานไม่มีผลต่อปริมาณแอนโทไซยานินและแอคติวิตีของเอนไซม์ PAL ในสภาพ in vivo อย่างไรก็ตามในสภาพ in vitro ABA NA และ NAA ส่งเสริมแอคติวิตีของเอนไซม์นี้ให้สูงขึ้น โดย BA ที่ระดับความเข้มข้น 400 ppm ให้ผลดีที่สุด ในขณะที่ GA
3 หรือ ethephon ไม่มีผลส่งเสริมในเรื่องนี้ เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างแอคติวิตีของ PAL และปริมาณแอนโทไซยานินทั้งหมดตลอดการพัฒนาของผลพบว่ามีความสัมพันธ์กันน้อย