ผลของสารสกัดหยาบจากข่าต่อโรคแอนแทรกโนสและการเจริญเติบโตของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้
อนุวัฒน์ จรัสรัตนไพบูลย์
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 98 หน้า
2545
บทคัดย่อ
ผลของสารสกัดหยาบจากข่าต่อโรคแอนแทรกโนสและการเจริญเติบโตของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้
ทำการสกัดเหง้าของข่า(
Alpinia galanga Sw.) ด้วย dichloromethane แล้วนำมาทำการแยกองค์ประกอบโดยวิธี TLC (Thin layer chromatography) และตรวจสอบทางชีววิทยา (TLC-bioassay) พบแถบต้านเชื้อราที่มีขนาดกว้างที่สุด ให้ชื่อว่าสาร L14 มีค่า Rf ตั้งแต่ 0.50 ถึง 0.83 หลังจากทำการเพิ่มปริมาณสาร L14 ด้วย column chromatography แล้วนำไปทดสอบความเป็นพิษต่อเชื้อรา
Colletotrichum gloeosporioides บนอาหาร PDA พบว่าสาร L14 จากแผ่น TLC และสารสกัดหยาบที่ความเข้มข้น 5,000 ส่วนต่อล้าน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นใยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และที่ความเข้มข้นเดียวกันนี้ทั้ง สาร L14 และสารสกัดหยาบสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้นตงแต่ 100 ส่วนต่อล้านขึ้นไป สาร L14 มีค่า ED 50 เท่ากับ 72 ส่วนต่อล้าน ซึ่งต่ำกว่าสารสกัดหยาบ เมื่อนำสาร L14 ตั้งทิ้งไว้ในที่มีแสง ณ อุณหภูมิห้อง(เฉลี่ย = 30 องศาเซลเซียส กลางวัน, 26 องศาเซลเซียส กลางคืน) นาน 9 วัน พบว่ายังคงมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำไปพ่นใบและผลมะม่วงในแปลงปลูกระยะก่อนการเก็บเกี่ยว 4 ครั้ง ปรากฏว่าสัดส่วนของเพศดอก การติดและการร่วงของผล และการเจริญของผลมะม่วงไม่มีความแตกต่างกับชุดควบคุมทางสถิติ การตรวจสอบคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว พบว่า เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักมีค่าที่เพิ่มขึ้น สีผิวมีสีดำคล้ำที่ความเข้มข้นสูงๆ สีเนื้อเข้มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ความแน่นเนื้อลดลงสำหรับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนส เปอร์เซ็นต์ดรรชนีการเข้าทำลายของโรคมีค่าต่ำที่ความเข้มข้นสูงๆ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด(TSS) เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับระดับ pH ส่วนปริมาณกรดรวมมีค่าลดลง ซึ่งตรงกันกับการตรวจสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส อย่างไรก็ดีผลผลิตไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค