บทคัดย่องานวิจัย

โรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc. และการควบคุม

อังสุมา ชยสมบัติ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2533. 116 หน้า.

2533

บทคัดย่อ

โรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc. และการควบคุม การสำรวจปริมาณโรคแอนเทรคโนสที่เกิดกับผลมะม่วง 5 สายพันธุ์ซึ่งปลูกในแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศไทย พบว่าผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้จากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายแฝงมากับผลมะม่วงมากที่สุด และผลมะม่วงพันธุ์อกร่องจากจังหวัดนนทบุรีมีโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายแฝงมากับผลมะม่วงน้อยที่สุด โดยความรุนแรงของโรคแอนแทรคโนสที่ปรากฎบนผลมะม่วงทุกสายพันธุ์และทุกแหล่งปลูกที่สุ่มตัวอย่างมาอยู่ในระดับเดียวกัน (อาการโรคปรากฎ - 25 ของพื้นที่ผิวผล) ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อรา C. gloeosporioides ซึ่งแยกมาจากผลมะม่วงในแหล่งปลูก 6 แหล่งคือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดประทุมธานี และ จังหวัดสุพรรณบุรี ปรากฏว่าเชื้อราที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ดังกล่าวทุกแหล่งมีลักษณะและขนาดโครงสร้างของเชื้อบนเนื้อเยื่อพืชและลักษณะรวมทั้งอัตราการเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ใกล้เคียงกัน เชื้อรา C. gloeosparioides สามารถเข้าทำลายผลมะม่วงตั้งแต่ผลยังอ่อนสปอร์ของเชื้องอก germ tube และสร้าง appressorium บนผิวผลภายในเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเชื้อราจะสร้าง infection hypha ผ่านชั้น cuticle เข้าไปในผิวผลแล้วพักแฝงตัวอยู่ในผลมะม่วงในรูปเส้นใยที่เจริญแทรกอยู่ระหว่างเชลล์ ในชั้น epidermis และ subepidermis ลึกลงไปจากผิวผลมะม่วง 2-3 ชั้นของเชลล์จากผิวนอกสุดหรืออยู่ในช่วงไม่เกิน 1 มิลลิเมตรจากผิวนอก เชื้อราจะเจริญทำลายผลมะม่วงต่อไปเมื่อผลเริ่มสุกถึงสุกเต็มที่ การศึกษาความสัมพันธุ์ระหว่างการเกิดโรคแอนแทรคโนสกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของผลมะม่วงน้ำดอกไม้ พบว่าการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความสุกและปริมาณน้ำตาลในผล โดยที่อาการของโรครุนแรงมากที่สุดเมื่อผลมะม่วงสุกเต็มที่ และมีปริมาณน้ำตาลในระดับสูง (20.24 Brix) ผลมะม่วงที่เป็นโรคแอนแทรคโนสมีรูปแบบการหายใจและการผลิตก๊าชเอทิลีน เป็นแบบเดียวกับผลมะม่วงที่ไม่เป็นโรค แต่มีปริมาณสูงกว่าผลมะม่วงที่ไม่เป็นโรค เชื้อรา C. gloeosporioides ที่แยกได้จากผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ทองคำ และอกร่อง สามารถทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนสข้ามระหว่างผลมะม่วงทั้ง 4 พันธุ์ดังกล่าวข้างต้นได้ทุกพันธุ์ โดยเชื้อราที่แยกมาจากผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มีความรุนแรงมากที่สุด ในขณะที่ผลมะม่วงน้ำดอกไม้เป็นพันธุ์ที่เกิดอาการของโรคนี้รุนแรงที่สุดเช่นกัน จากการทดสอบสารเคมี benomyl, thiabendazole, carbendazim และ thiophanate-methyl ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วงน้ำดอกไม้ ปรากฏว่าการจุ่มผลมะม่วงในสารเคมี benomyl ความเข้มข้น 500 ppm มีประสิทธิภาพดีที่สุด ส่วนการใช้น้ำร้อนในการควบคุมโรคปรากฎว่าการจุ่มผลมะม่วงลงในน้ำร้อนอุณหภูมิ 55 หรือ 57 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 5 นาที มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการควบคุมโรค รองลงมาคือการจุ่มผลมะม่วงลงในน้ำร้อนอุณหภูมิ 53 องศาเซลเซียส และการจุ่มผลมะม่วงลงในสารเคมี benomyl เข้มข้น 500 ppm ที่อุณหภูมิ 51, 53, 55 และ 57 องศาเซลเซียส ซึ่งให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีไม่แตกต่างกัน โดยการจุ่มผลมะม่วงเป็นเวลา 5 นาทีมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคดีกว่าการจุ่มผลเป็นเวลา 3 นาที ผลมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ผ่านการจุ่มผลลงในสารเคมี benomyl หรือ thiabendazole เข้มข้น 500 และ 750 ppm เป็นเวลา 5 นาที แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ 7 วันมีปริมาณพิษตกค้างเหลืออยู่ในส่วนเปลือกและเนื้อในระดับต่ำมากไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ระยะเวลาที่สามารถใช้สารเคมีควบคุมโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วงน้ำดอกไม้ได้ผลดีที่สุดคือการใช้สารเคมีเคลือบผลป้องกันการทำลายของเชื้อรา แต่ถ้าผลมะม่วงได้รับเชื้อราแล้วควรจุ่มผลมะม่วงลงในสารเคมีฆ่าเชื้อราให้เร็วที่สุดหรือไม่เกิน 1 วันหลังจากเก็บเกี่ยวผล