บทคัดย่องานวิจัย

การทำเอนไซม์อะมิเลสจากเมล็ดข้าวสาลีงอกให้บริสุทธิ์บางส่วนและการประยุกต์ใช้ผลิตสารจับกลิ่นหอม

จิราพร นาวารักษ์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 277 หน้า

2542

บทคัดย่อ

การทำเอนไซม์อะมิเลสจากเมล็ดข้าวสาลีงอกให้บริสุทธิ์บางส่วนและการประยุกต์ใช้ผลิตสารจับกลิ่นหอม จากการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดและทำเอนไซม์อะมิเลสจากข้าวสาลีงอกให้บริสุทธิ์ พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดเอนไซม์อะมิเลสจากข้าวสาลีงอกคือ ใช้สารละลายบัฟเฟอร์ Tris-HCI 0.05 M pH 7.4 ที่มี 0.0005 M CaCl2 สกัดโดยใช้ระยะเวลา 40 นาที ใช้ปริมาณข้าวสาลีงอก 20 กรัมต่อปริมาตรบัฟเฟอร์ 100-120 มล. เมื่อนำเอนไซม์อะมิเลสที่สกัดได้ โดยใช้สารละลายบัฟเฟอร์ Tris-HCl 0.05M pH 7.4 ที่มี 0.0005 M CaCl2 มาตกตะกอนโดยใช้เกลือและตัวทำละลายอินทรีย์ได้แก่ เกลือแอมโมเนียมซัลเฟต ตัวทำละลายอะซิโตน เมธานอลและ เอธานอล พบว่าเอธานอลสามารถตกตะกอนเอนไซม์อะมิเลสได้ปริมาณมากที่สุดและมีแอคติวิตีดีที่สุด จากการนำเอนไซม์อะมิเลสซึ่งสกัดด้วย Tris และตกตะกอนด้วยเอธานอลมาผลิตมอลโทเดกซ์ทรินโดยใช้กระบวนการผลิตแบบ 1 ขั้นตอนและ 2 ขั้นตอนพบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตแบบ 2 ขั้นตอนโดยใช้แป้งมันสำปะหลังเข้มข้น 20 (w/v) เอนไซม์ 25 หน่วยต่อกรัมแป้งทำปฏิกิริยาที่ pH 5.0 ที่อุณหภูมิ 85 °C นาน 30 นาทีในขั้นตอนที่ 1 และในขั้นตอนที่ 2 ใช้เอนไซม์ 5.0 หน่วยต่อกรัมแป้งทำปฏิกิริยาต่ออีก 10 นาที สามารถผลิตมอลโทเดกซ์ทรินที่มีคุณสมบัติทางกายภาพดีกว่ามอลโทเดกซ์ทรินที่ผลิตแบบ 1 ขั้นตอน เมื่อนำมอลโทเดกซ์ทรินที่ผลิตแบบ 1 และ 2 ขั้นตอนมาทดลองจับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมพบว่า มอลโทเดกซ์ทรินผลิตแบบ 2 ขั้นตอนสามารถจับน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมได้ดีกว่ามอลโทเดกซ์ทรินผลิตแบบ 1 ขั้นตอน เมื่อศึกษาองค์ประกอบของสารที่ถูกจับกลิ่นในน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมโดยกระบวนการฟรีสดรายและเปรียบเทียบระหว่างมอลโทเดกซ์ทรินที่ผลิตได้กับเดกซ์ทรินมาตรฐานคือ เบตาไซโคลเดกซ์ทริน เดกซ์ทริน 10 เดกซ์ทริน 15 และเดกซ์ทริน 20 พบว่าการจับกลิ่นโดยใช้อัตราส่วนปริมาณเดกซ์ทรินต่อน้ำ 1:1 สามารถรักษากลิ่นให้คงอยู่ได้ปริมาณสูงสุด และพบว่าปริมาณสารที่ถูกจับกลิ่นเพิ่มมากขึ้นเมื่อเพิ่มปริมาณเดกซ์ทรินชนิดต่างๆ สำหรับระยะเวลาและอุณหภูมิในการเก็บรักษากลิ่นของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมโดยเดกซ์ทริน พบว่าอุณหภูมิที่ทำให้เกิดการสูญเสียของกลิ่นน้อยคือที่ 4 องศาเซลเซียส