การเก็บเกี่ยว การปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว ผลกระทบของอุณหภูมิและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและอายุการเก็บรักษาของปวยเหล็ง (Spinacia oleracea L.)
ชัยรักษ์ เลิศฤทธิพงศ์
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 91 หน้า
2529
บทคัดย่อ
การเก็บเกี่ยว การปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว ผลกระทบของอุณหภูมิและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและอายุการเก็บรักษาของปวยเหล็ง (Spinacia oleracea L.)
การศึกษาความเสียหายของปวยเหล็งจากสถานีเกษตรทุ่งเราที่ขนส่งมาถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พบว่าพวกที่ไม่ได้ทำการล้างน้ำและล้างน้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว มีความเสียหาย 47.2 และ 39.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปวยเหล็งจากสถานีเกษตรแม่ปูนหลวง ประกอบด้วยพวกที่ทำการเก็บเกี่ยวทั้งรากและแช่ในสารละลาย sodium hypochlorite 200 ppm เป็นเวลา 1 นาที กับพวกที่เก็บเกี่ยวโดยวิธีตัดต้นจากราก ซึ่งขนส่งมายังอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีน้ำแข็งป่นโรยสลับหรือไม่ก็ตาม และเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5-6 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 วันจึงขนส่งมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเสียหาย 15.8-19.2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวิธีที่ปฏิบัติตามปกติ (control) มีความเสียหาย 35.4 เปอร์เซ็นต์ การเก็บรักษาปวยเหล็งจากสถานีเกษตรทุ่งเราพบว่าปวยเหล็งที่ไว้ในถุงพลาสติกปิดสนิทที่อุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียสให้ผลดีที่สุด สามารถเก็บรักษาได้นาน 18 วัน โดยผักมีสภาพสดอยู่ ซึ่งพวกที่ไม่ได้ทำการล้างน้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยวมีการสูญเสียน้ำหนัก 1.9 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคลอโรฟิลล์ในส่วนใบลดลงจาก 147.8 เหลือ 125.4 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักสด ปริมาณไวตามินซีในส่วนใบและก้านใบลดลงจาก 43.9 และ 15.8 เหลือ 13.8 และ 6.9 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักสด soluble solids ในส่วนใบและก้านใบลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 8.0 และ 5.3 เหลือ 7.6 และ 4.6 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณกรดออกซาลิคในส่วนใบเพิ่มขึ้นจาก 0.22 เป็น 0.30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรดออกซาลิคในก้านใบมีค่าค่อนข้างคงที่และมีการเพิ่มของปริมาณเส้นใยในส่วนใบและก้านใบเพียงเล็กน้อยจาก 0.23 และ 0.77 เป็น 0.25 และ 0.78 เปอร์เซ็นต์ ที่อุณหภูมิ 5 และ 9 องศาเซลเซียส ผักมีการสูญเสียคุณภาพเร็วกว่าที่อุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิห้อง ปวยเหล็งหมดสภาพการซื้อขายเมื่อเก็บรักษาได้ 2 วัน ส่วนปวยเหล็งในตะกร้าพลาสติกมีการสูญเสียน้ำหนักอย่างรุนแรงทุกอุณหภูมิการเก็บรักษา ทำให้ผักเหี่ยวแห้งและหมดสภาพการซื้อขายเมื่อเก็บรักษาได้ 2-3 วัน สำหรับปวยเหล็งที่ทำการล้างน้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อนำมาเก็บรักษาก็มีการเปลี่ยนคุณภาพ และอายุการเก็บรักษาคล้ายกับพวกที่ไม่ได้ทำการล้างน้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาปวยเหล็งจากสถานีเกษตรแม่ปูนหลวง พบว่าการใช้น้ำแข็งป่นโรยสลับในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่นั้น เมื่อนำมาเก็บรักษาผักมีแนวโน้มในการสูญเสียคุณภาพค่อนข้างช้ากว่าพวกที่ไม่ใช้น้ำแข็ง ส่วนการตัดรากของปวยเหล็งก็ไม่มีผลทำให้การสูญเสียคุณภาพของผักเร็วกว่าพวกที่ไม่ได้ทำการตัดราก สำหรับการใช้สภาพอุณหภูมิต่ำร่วมกับบรรยากาศคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าการเก็บรักษาปวยเหล็งไว้ในถุงพลาสติกปิดสนิทที่อุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส โดยมีคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มต้น 20 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลดีที่สุด สามารถเก็บรักษาผักได้นานถึง 24 วันโดยผักยังมีสภาพสดอยู่และมีการสูญเสียน้ำหนัก 3.3 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคลอโรฟิลล์ในส่วนใบลดลงจาก 131.5 เหลือ 107.5 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักสด ปริมาณไวตามินซีในส่วนใบและก้านใบลดลงจาก 28.5 และ 13.2 เหลือ 8.3 และ 6.0 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัมน้ำหนักสด soluble solids ในส่วนใบและก้านใบลดลงจาก 7.7 และ 5.1 เหลือ 6.5 และ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณกรดออกซาลิคในส่วนใบเพิ่มจาก 0.22 เป็น 0.29 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในก้านใบมีปริมาณกรดออกซาลิคค่อนข้างคงที่ และปริมาณเส้นใยในส่วนใบและก้านใบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย