บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาการสะสมน้ำหนักแห้งและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวจาโปนิก้า

ธารารัตน์ จันทร์ปัญญา

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 121 หน้า

2536

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาการสะสมน้ำหนักแห้งและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวจาโปนิก้า การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนา การสะสมน้ำหนักแห้งและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวจาโปนิก้า 2 พันธุ์คือ พันธุ์ ที.ซี.ซี. 1 และพันธุ์ ที.ซี.ซี. 12 โดยการเก็บตัวอย่างทุก ๆ 2 วัน หลังจากออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูนาปีและนาปรังที่แปลงทดลองภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำตัวอย่างเมล็ดมาทดสอบความชื้น น้ำหนัก 100 เมล็ด ขนาดเมล็ด ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ด รวมถึงการวิเคราะห์ประมาณปริมาณแป้งอะมัยโลส และเปลี่ยนสีของเปลือกเมล็ดข้าว ผลการศึกษาพบว่า ระยะเวลาการพัฒนาของข้าวจาโปนิก้าทั้งสองพันธุ์ มีความสัมพันธ์ในทางบวกสูง กับ การสะสมน้ำหนักแห้ง ในทำนองเดียวกับ การพัฒนาของเมล็ด และการสะสมน้ำหนักแห้ง มีความสัมพันธ์ในทางบวกอย่างสูง กับความงอก และความแข็งแรงของเมล็ด ณ ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาของ เมล็ดพันธุ์ ที.ซี.ซี. 1 มีน้ำหนักแห้ง 100 เมล็ด 2.32 และ 2.36 กรัม และมีความชื้นของเมล็ด 28.37 เปอร์เซ็นต์ และ 26.57 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เมล็ดมีอายุ 28 และ 24 วัน หลังออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูนาปี และนาปรังตามลำดับ ในขณะที่พันธุ์ ที.ซี.ซี. 12 มีน้ำหนัก 100 เมล็ด 2.40 และ 2.47 กรัม และเมล็ดมีความชื้น 31.17 เปอร์เซ็นต์ และ 23.10 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 28 และ 30 วันหลังออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การเปรียบเทียบการเปลี่ยนสีของเปลือกเมล็ดข้าวกับ Munsell color chart ได้สนับสนุนว่าเมื่อสีเปลือกเมล็ดข้าวเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอมเขียว แสดงว่าเมล็ดถึงระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ทั้งพันธุ์ ที.ซี.ซี. 1 และ ที.ซี.ซี. 12 ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินด้วยสายตาในการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับเก็บเกี่ยวเมล็ดเพื่อใช้ทำพันธุ์ต่อไป