ศึกษาการเสื่อมคุณภาพในเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง
ไพฑูรย์ ปานเปรม
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์), สาขาพืชไร่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 74 หน้า
2529
บทคัดย่อ
ศึกษาการเสื่อมคุณภาพในเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง
การศึกษาการเสื่อมคุณภาพในเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง ได้ดำเนินการทดลองในปี พ.ศ. 2525 ถึง 2526 ณ ตึกวิทยาการเมล็ดพันธุ์ กองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ และวิทยาเขตเกษตรสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยวางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) มี 4 สิ่งทดลองและสิ่งทดลอง 4 ซ้ำ ใช้เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ที่มีความชื้น 5.2 เปอร์เซ็นต์ และความงอก 95.5 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเมล็ดออกเป็น 16 ส่วนเท่า ๆ กัน นำไปเก็บในภาชนะและอุณหภูมิที่แตกต่างกันดังนี้ ส่วนที่ 1-4 บรรจุถุงผ้าเก็บในห้องธรรมดา (RT-C) ส่วนที่ 5-8 บรรจุถุงพลาสติกเก็บในห้องธรรมดา (RT-P) ส่วนที่ 9-12 บรรจุถุงผ้าเก็บในห้องเย็น (25 องศาเซลเซียส) และส่วนที่ 13-16 บรรจุถุงพลาสติกเก็บในห้องเย็น (25 องศาเซลเซียส) เก็บไว้เป็นเวลา 6 เดือน แต่ละเดือนนำเมล็ดจาก 4 สิ่งทดลอง มาตรวจสอบการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ โดยวิธีการต่าง ๆ 7 วิธี ดังนี้คือ 1) ความงอกในห้องปฏิบัติการ 2) อัตราเร็วของความงอก 3) น้ำหนักแห้งของต้นอ่อน 4) การเสื่อมของผนังเซลล์ 5) การมีชีวิตของเมล็ด 6) กรดไขมันอิสระ และ 7) ความงอกในแปลงทดลอง ผลการทดลองปรากฏว่า จากวิธีการศึกษาความงอกในห้องปฏิบัติการ การศึกษาอัตราเร็วของความงอก การศึกษาน้ำหนักแห้งของต้นอ่อน การศึกษาการมีชีวิตของเมล็ด และการศึกษากรดไขมันอิสระนั้น เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่บรรจุถุงพลาสติกยังคงรักษาคุณภาพได้ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงผ้าทั้งในสภาพการเก็บในห้องเย็นและในห้องอุณหภูมิธรรมดา ส่วนผลจากการศึกษาการเสื่อมของผนังเซลล์นั้น เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงผ้าเสื่อมคุณภาพช้ากว่าเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงพลาสติกในสภาพการเก็บในห้องเย็น แต่ในสภาพห้องเก็บธรรมดา เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงพลาสติกเสื่อมคุณภาพช้ากว่าเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงผ้า และการศึกษาความงอกในแปลงทดลองพบว่า เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงพลาสติกในสภาพการเก็บในห้องเย็นรักษาคุณภาพได้ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงพลาสติกในสภาพห้องเก็บแบบธรรมดา เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงผ้าในสภาพการเก็บในห้องเย็น และเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุถุงผ้าในสภาพห้องเก็บแบบธรรมดา ตามลำดับ แต่ถ้ากล่าวสรุปโดยส่วนใหญ่แล้ว การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในห้องเย็นอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสจะดีกว่าในห้องธรรมดา และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในถุงพลาสติกจะดีกว่าการเก็บในถุงผ้า