การศึกษาการเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเปลี่ยนแปลงหลังเก็บเกี่ยว ของผลส้มเขียวหวานและส้มตรา
มนตรี อิสรไกรศีล
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 80 หน้า.
2527
บทคัดย่อ
การศึกษาการเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเปลี่ยนแปลงหลังเก็บเกี่ยวของผลส้มเขียวหวานและส้มตรา
การศึกษาการเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเปลี่ยนแปลงหลังเก็บเกี่ยวของผลส้มเขียวหวาน (
Citrus recticulata Blanco.) และส้มตรา (
C. sinensis Osbeck.) กระทำโดยนำผลส้มทั้ง 2 ชนิดจากสวนที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มาทำการศึกษาและวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการพืชสวนหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2525 พบว่า ผลส้มเขียวหวานและส้มตรามีการเจริญเติบโตด้านน้ำหนักคล้ายแบบ simple sigmoid curve โดยที่ผลเพิ่มขนาดและน้ำหนักตลอดเวลาตามอายุที่เพิ่มขึ้น สีเขียวของเปลือกจางลงเมื่อผลเจริญเติบโตมากขึ้น เปลือกบางส่วนของผลส้มเขียวหวานและส้มตราเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อผลมีอายุ 41 และ 35 สัปดาห์ ตามลำดับ หลังจากนั้น เปลือกมีสีเหลืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เปลือกของผลส้มเขียวหวานและส้มตรามีความหนามากที่สุดเมื่อผลมีอายุได้ 6 และ 8 สัปดาห์ ต่อมา ความหนาของเปลือกลดลงอย่างช้า ๆ อัตราส่วนของน้ำหนักผลที่ไม่มีเปลือก/น้ำหนักผลของส้มเขียวหวานและส้มตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากติดผลจนถึงสัปดาห์ที่ 20 และ 22 หลังจากนั้นค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนปริมาณความชื้นของผล ของเปลือกและเนื้อของผลส้มเขียวหวานและส้มตราก็มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามอายุของผลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลส้มเขียวหวานอายุ 47 สัปดาห์เริ่มมีลักษณะฟอง ฟ่าม และมีอาการข้าวสารบริเวณขั้วผล ส่วนผลส้มตราเริ่มพบอาหารดังกล่าวบ้างเมื่ออายุ 38 สัปดาห์ แต่ความรุนแรงและปริมาณที่พบไม่มากเท่าในผลส้มเขียวหวานที่มีอายุ 47 สัปดาห์ ปริมาณวิตามินซีในน้ำคั้นของผลส้มทั้ง 2 ชนิดลดลงตามลำดับตามอายุของผลที่เพิ่มขึ้น ส่วน soluble solids (SS) ในน้ำคั้นของผลส้มเขียวหวานและส้มตรามีค่าเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ปริมาณกรดหรือ titratable acids (TA) ในน้ำคั้นมีค่าลดลง ทำให้อัตราส่วนของ SS/TA เพิ่มขึ้น และทำให้ผลส้มเขียวหวานมีรสหวานมากขึ้นพร้อมกับมีรสเปรี้ยวลดลง ผลส้มตรามีรสหวานมากขึ้นตามอายุของผลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ผลไม่มีรสเปรี้ยวตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต เนื่องจากมี TA อยู่น้อย ผลส้มตราไม่มีรสขื่นหลังจากที่ผลมีอายุ 32 สัปดาห์ ลักษณะที่สามารถนำมาเป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลส้มเขียวหวานและส้มตรา อาจพิจารณาได้จากอายุของผลตั้งแต่ 41-45 และ 33-37 สัปดาห์หลังดอกบาน สีเหลืองของเปลือกโดยเฉลี่ยต่อผลประมาณ 20-50 และ 0-30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นผิวทั้งหมด และผลส้มเขียวหวานและส้มตราควรมี SS ในน้ำคั้นเท่ากับ 8.0-8.5 และ 9.5-10.0 เปอร์เซ็นต์ TA ในน้ำคั้นระหว่าง 0.36-0.29 และ 0.28-0.22 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราส่วนของ SS/TA ในช่วง 22.2-29.3 และ 34.5-46.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ผลส้มทั้ง 2 ชนิดอาจมีวิตามินซีในน้ำคั้นระหว่าง 21.80-17.46 และ 28.65-24.78 มก./น้ำคั้น 100 มล. และมีปริมาณน้ำที่คั้นได้ประมาณ 43.1-42.3 และ 35.1-36.3 เปอร์เซ็นต์ การสูญเสียน้ำหนักของผลส้มเขียวหวานและส้มตรามีค่าเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (27.5 องศาเซลเซียส และ 57.4 เปอร์เซ็นต์ RH) ทำให้ผลเหี่ยว เสียรูปทรง และความหนาของเปลือกลดลง ผลส้มเขียวหวานอายุ 39-47 สัปดาห์มีลักษณะเหี่ยวและเสียรูปทรงจนดูน่าเกลียด ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ชอบซื้อหา ตั้งแต่วันที่ 5 ของการเก็บรักษา ผลส้มตราอายุ 33-37 สัปดาห์ มีลักษณะดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 7 ของการเก็บรักษา ส่วนผลส้มตราอายุ 39 สัปดาห์มีลักษณะที่ผู้บริโภคไม่ชอบซื้อหาตั้งแต่วันที่ 5 ของการเก็บรักษาเท่านั้น SS ในน้ำคั้นของผลส้มเขียวหวานและส้มตราที่มีอายุต่าง ๆ กันดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามจำนวนวันที่เก็บรักษาขณะที่ TA ลดลงเล็กน้อย ทำให้อัตราส่วนของ SS/TA เพิ่มขึ้น ถึงอย่างไรค่าทั้ง 3 ดังกล่าวนั้นไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนวันที่เก็บรักษา ส่วนปริมาณวิตามินซีในน้ำคั้นของผลส้มเขียวหวานและส้มตราต่างก็มีปริมาณลดลงตามจำนวนวันที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง การลดลงของปริมาณวิตามินซีในน้ำคั้นของผลส้มเขียวหวานดังกล่าวมีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนวันที่เก็บรักษา โดยอายุของผลและจำนวนวันที่เก็บรักษาผลไว้มีความสัมพันธ์กันในทางสถิติที่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์ด้วย แต่การลดลงของปริมาณวิตามินซีในน้ำคั้นของผลส้มตราตามจำนวนวันที่เก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์