บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ความเสื่อมของคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านแตะละขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์

สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ และณัฐศักดิ์ กฤติกาเมษ

รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2541. 14 หน้า

2541

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ความเสื่อมของคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านแตะละขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ การประเมินความเสื่อมสภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด (Zea may L.) ที่ผ่านมาแต่ละขั้นตอนของขบวนการปรับปรุงสภาพ ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างจาก ขั้นตอนที่ 1 ผ่านการลดความชื้นเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการกะเทาะ ขั้นตอนที่ 2 ผ่านเครื่องกะเทาะเมล็ด ขั้นตอนที่ 3 ผ่านการอบลดความชื้นของเมล็ดให้ต่ำกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนที่ 4 ผ่านเครื่องคัดทำความสะอาด ขั้นตอนที่ 5 ผ่านเครื่องคัดขนาดเมล็ดพันธุ์ ขั้นตอนที่ 6 ผ่านเครื่องคลุกสารเคมี การประเมินคุณภาพทำโดยการทดสอบความงอกมาตรฐาน การทดสอบความมีชีวิตจากกิจกรรมของเอนไซม์ (tetrazolium technique) การทดสอบความแข็งแรงทางอ้อม (การทดสอบค่าการนำไฟฟ้า) และทางตรงโดยการทดสอบอัตราการเจริญของต้นกล้า และทำการประเมินความเสียหายจากเครื่องจักรร่วมด้วยในทุกขั้นตอนการปรับปรุงสภาพ จากการทดสอบพบว่า ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ที่สูงมีบทบาทสำคัญของการลดลงของเปอร์เซ็นต์ความงอกงามและความมีชีวิต เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านขั้นตอนการลดความชื้นครั้งที่สองมีแนวโน้มที่จะรักษาคุณภาพความงอกในระดับที่ดี (98-100 เปอร์เซ็นต์) การประเมินความแข็งแรงแสดงให้เห็นว่าเมล็ดที่ผ่านทุกขั้นตอนการปรับปรุงสภาพมีความแข็งแรงมากกว่าเมล็ดที่ผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 ในทกขั้นตอนการปรับปรุงสภาพไม่พบความเสียหายจากเครื่องจักร และสามารถสรุปได้ว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านขั้นตอนต่างๆของขบวนการปรับปรุงสภาพอย่างต่อเนื่องจะให้คุณภาพเมลดพันธุ์ที่ดี และถ้าหากต้องการหยุดระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงสภาพโดยที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อคุณภาพ ควรดำเนินการหลังจากผ่านการลดความชื้นจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย (11 เปอร์เซ็นต์ )