บทคัดย่องานวิจัย

การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวกับมะลิส่งออก (Jaminum isambac) : ช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังการเก็บ, ชนิดของถุงพลาสติก และวิธีการบรรจุเพื่อการลดอุณหภูมิ

พรรษชล โพธิขำ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม.(พืชสวน)) สาขาวิชาพืชสวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าจอมคุณทหารลาดกระบัง, 2544. 60 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวกับมะลิส่งออก (Jaminum isambac) : ช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังการเก็บ, ชนิดของถุงพลาสติก และวิธีการบรรจุเพื่อการลดอุณหภูมิ จากปัญหาการเน่าเสียของมะลิส่งออก จึงทำการทดลองปรับปรุงวิธีการ ปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 การศึกษาหาระยะเวลาก่อนการลดอุณหภูมิ ตั้งแต่ 0-3 ชั่วโมงเปรียบเทียบกับ control (วิธีการของเกษตรกรผู้รวบรวมและผู้ส่งออก) ผลการทดลองสรุปได้ดังนี้คือ การลดอุณหภูมิหลังการเก็บเกี่ยวทันทีด้วยการบรรจุ ดอกมะลิในถุงพลาสติก PE แล้วลดอุณหภูมิด้วยความเย็นจากน้ำแข็งเกล็ดใน กล่องโฟม ส่งผลให้ดอกมะลิมีคุณภาพดีที่สุดมีความเสียหายเพียง 5.35% ในขณะที่ control มีความเสียหายถึง 14.37% การทดลองที่ 2 การศึกษาชนิดของถุงพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุดอกมะลิ และบรรจุน้ำแข็งเกล็ด ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างถุงพลาสติกใส PE และถุงพลาสติก recycle ผลการทดลองสรุปว่า ดอกมะลิที่บรรจุในถุงพลาสติก recycle และ บรรจุน้ำแข็งเกล็ดในถุงพลาสติกใส่ (PE) ทำให้คุณภาพของดอกมะลิมีความเสียหายน้อยที่สุดเพียง 5.19% การทดลองที่ 3 เพื่อให้ดอกมะลิมีโอกาสสัมผัสกับความเย็นในระหว่าง การลดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ จึงได้ทำการทดลองสรุปได้ดังนี้ การบรรจุให้ดอกมะลิในถุงให้มีความหนา 2 และ 1 นิ้ว จะเสียหายเพิ่มเป็น 5.91 และ 7.40% ตามลำดับ