บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและสรีรวิทยาของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาว

เพ็ญวิภา วาสนาส่ง

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2541. 97 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและสรีรวิทยาของผลมะม่วงพันธุ์ โชคอนันต์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาว

การเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ที่อุณหภูมิ 3 8 13 และ 20 องศาเซลเซียส เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และสรีรวิทยา พบว่าการใช้อุณหภูมิต่ำ 8 และ 13 องศาเซลเซียส ในการเก็บรักษาสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์ โชคอนันต์ออกไปได้ ผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เริ่มปรากฏอาการสุกหลังจากวันที่ 4 ของการเก็บรักษาผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 8 และ 13 องศาเซลเซียส เริ่มปรากฏอาการสุกในวันที่ 12 และ 8 ของการเก็บรักษาตามลำดับ โดยไม่เกิดอาการสะท้านหนาวตลอดอายุการเก็บรักษาในขณะที่ผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 3 องศาเซลเซียส ปรากฏอาการฉ่ำน้ำซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของอาการสะท้านหนาว ในวันที่ 12 ของการเก็บรักษา ส่งผลให้ความแน่นเนื้อลดลง อย่างรวดเร็ว การรั่วไหลของประจุเพิ่มสูงขึ้นและสีเปลือก เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ วิธีการใช้อุณหภูมิสลับ อุณหภูมิสูงและอุณหภูมิสลับร่วมกับอุณหภูมิสูง สามารถลดการเกิดอาการ สะท้านหนาวได้เมื่อเปรียบเทียบกับผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ตลอดอายุการเก็บรักษา ซึ่งเริ่ม ปรากฏอาการฉ่ำน้ำขึ้นเมื่อเก็บรักษาเพียง 12 วัน การตรวจสอบ เนื้อเยื่อของผลมะม่วงโดยใช้กล้อง Scanning electron microscope (SEM) พบว่าโครงสร้างภายในมีการเปลี่ยนแปลง อย่างชัดเจนคือเนื้อเยื่อเกิดอาการเหี่ยวและเสียรูปทรงไปถึงแม้ว่าการใช้อุณหภูมิสลับจะสามารถลดอาการสะท้านหนาวได้ แต่การใช้อุณหภูมิสลับ 30 องศาเซลเซียส 1 ครั้ง และ 20 และ 30 องศาเซลเซียส 2 ครั้ง ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ผลมะม่วงเกิดการสุกในวันที่ 15 10 และ 10 ของการเก็บรักษาตามลำดับโดยมีค่า ความแน่นเนื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผลมะม่วงที่ใช้อุณหภูมิสลับ 20 องศาเซลเซียส 1 ครั้งเกิดการแลกเปลี่ยนภายในผลน้อยกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ และเริ่มปรากฎอาการสุก ในวันที่ 30 ของการเก็บรักษา ส่วนผลมะม่วงที่มีการใช้อุณหภูมิ สูง 38 องศาเซลเซียส ก่อนการเก็บรักษาและอุณหภูมิสูงร่วมกับ อุณหภูมิสลับ 20 และ 30 องศาเซลเซียส มีอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน และการรั่วไหลของประจุสูงขึ้นกว่าการใช้ อุณหภูมิสลับเพียงอย่างเดียว