การยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงสุกสดโดยการควบคุมโรคแอนแทรคโนสและแมลงวันผลไม้ ด้วยการจุ่มสารเคมีและใช้ก๊าซช่วย
สุนทรี ตั้งปฏิพัทธ์
วิทยานิพนธ์ (วท.ม.) สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544. 74 หน้า.
2544
บทคัดย่อ
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมะม่วงที่สำคัญรายหนึ่งของโลก แต่การส่งออกมะม่วงมีปริมาฯน้อยมาก ประเทศไทยจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกมะม่วงไปสู่ตลาดโลก ปัญหาสำคัญที่การส่งออกมะม่วงสดของไทยที่พบคือ ปัญหาเรื่องการเน่าเสียอันเกิดจากโรคแอนแทรคโนส และการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสม เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงให้สามารถส่งไปยังตลาดส่งออกได้ การศึกษานี้จึงมี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารละลายโซเดียมไฮโปรคลอไรด์ และสารละลายเอทานอล ต่อการเจริญของเชื้อราสาเหตุการเกิดโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงในจานอาหารเลี้ยงเชื้อและในมะม่วง 2 พันธุ์ คือ พันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และเพื่อศึกษาผลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีและประสาทสัมผัสของผลมะม่วงทั้ง 2 พันธุ์ดังกล่าว ได้ทำการศึกษาวิธีการควบคุมโรคด้วยการจุ่มสารเคมีและควบคุมแมลงโดยใช้กาซช่วย โดยได้ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมี 2 ชนิดคือ โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ ที่ระดับความเข้มข้น 100 200 และ 300 มิลลิกรัมต่อลิตรและเอทานอล ที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 40 และ 70 ในการควบคุมการเจริญของเส้นใยเชื้อรา สาเหตุการเกิดโรคแอนแทรคโนส โดยการแช่เส้นใยในสารละลาย ทั้ง 2 ชนิด เป็นเวลา 5 10 และ 15 นาที พบว่าสารละลายโซเดียมไฮโปรคลอไรด์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราได้ต่ำ แต่สารละลายเอทานอล ที่ความเข้มข้นร้อยละ 70 นาน 10 และ 15 นาที สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้อย่างสมบูรณ์ และนำผลที่ได้นำมาทดลองกับมะม่วง พบว่า เอทานอลสามารถยับยั้งการเกิดโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองได้ สำหรับการควบคุมไข่แมลงวันผลไม้ด้วยการรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้น ร้อยละ 99 กับผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองในถุงไนล่อน นาน 1 2 3 และ 4 วัน ที่อุณหภูมิห้อง พบว่าการรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระยะเวลา 3 วัน ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ และ 4 วัน ในมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ไข่แมลงวันผลไม้ตายหมดจากนั้นศึกษาผลของการรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะเวลาที่ไข่แมลงวันผลไม้ตายหมด ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางกายภาพ เคมีและประสาทสัมผัสต่อผลมะม่วง พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยชะลอ การเปลี่ยนสีเปลือกและสีเนื้อ รักษาความแน่นเนื้อช่วยรักษาปริมาณกรด แต่ทำให้ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ลดลงในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดการสูญเสีย น้ำหนัก ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และพบการเกิดการแยกออกจากกันเป็นหลุมรีติดกันคล้ายรังผึ้งของเนื้อมะม่วง ซึ่งเกิดขึ้นเล็กน้อยในมะม่วงทั้ง 2 พันธุ์ ผลการทดสอบทางประสาทสัมผัสกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองพบว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มีผลต่อคุณลักษณะสีเหลืองในเนื้อและกลิ่นรสผิดปกติ แต่มีผลต่อคุณลักษณะสีส้มในเนื้อ ความแรงของกลิ่นมะม่วง ความแน่นเนื้อ ความหวานของเนื้อ ความเปรี้ยวของเนื้อ การวิจัยนี้ได้ข้อมูลที่ได้ผลในการพัฒนาวิธีการปฏิบัติสำหรับการควบคุมโรคแอนแทรคโนส ด้วยสารเคมีและการพัฒนาวิธีการควบคุมแมลงวันผลไม้ในผลมะม่วงโดยการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์