บทคัดย่องานวิจัย

แนวทางและแผนปฏิบัติในการรณรงค์กุ้งไทยไร้สารตกค้าง

ธำมรงค์ ประกอบบุญ

วารสารการประมง : 55(3): 215-217. 2545

2545

บทคัดย่อ

แนวทางและแผนปฏิบัติในการรณรงค์กุ้งไทยไร้สารตกค้าง กุ้งกุลาดำเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าแสนล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2534 โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 30% แต่เมื่อปลายปี 2544 ทางสหภาพยุโรปได้ตรวจพบ คลอแรมเฟนิคอล (Chlorampheicol) ในสินค้ากุ้งที่มาจากประเทศจีน เวียตนาม อินโดนีเชีย ทำให้ทางสหภาพยุโรปเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่มาจากเอเชีย และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2545 ทางเนเธอร์แลนด์ ได้ตรวจพบไนโตรฟูแรนในสินค้ากุ้งสดแช่เย็นของไทย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

กรมประมงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงมิได้นิ่งนอนใจ ได้มีแนวทางและแผนปฏิบัติต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้

1.กรมประมงในฐานะที่เป็น Competent Authority ได้ทำการตรวจวิเคราะห์คลอแรม
เฟนิคอลในสินค้าก่อนการส่งออก 100% หากตรวจพบในปริมาณที่เกิดกว่า 0.3 ppb จะไม่อนุญาตให้ส่งออก ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 เป็นต้นมา และได้ทำการตรวจวิเคราะห์ไนโตรฟูแรน (Nitrofuran) ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2545

2.กรมประมงได้สุ่มเก็บตัวอย่างเคมีภัณฑ์และตัวอย่างกุ้งกุลาดำเพื่อตรวจหาคลอแรม
เฟนิคอลตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเมื่อตรวจพบจะแจ้งไปยังชมรมผู้ค้าปัจจัยการผลิต และส่งเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกรถึงผลเสียและห้ามใช้ยาดังกล่าว

3.กรมประมงได้สุ่มตรวจไนโตรฟูแรน และคลอแรมเฟนิคอลในอาหารกุ้งที่เก็บจากโรงงานผลิตอาหารกุ้ง

4.ตรวจสอบสารตกค้างในกุ้งกุลาดำที่ตลาดกลางเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังฟาร์มได้

5.กรมประมงได้จัดซื้อเครื่องวิเคราะห์หาคลอแรมเฟนิคอลและคอลัมน์ในการตรวจหาไนโตฟูแรน ให้แก่ศูนย์/สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในการตรวจสารตกค้าง

6.จัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงกุ้งในหัวข้อเรื่องการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำคุณภาพในเดือนมีนาคม 2545 ในพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวน 11 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 1,000 ราย

7.กรมประมงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมประมงให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาหารและยา

8.จัดอบรมการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์สารตกค้างให้แก่เจ้าหน้าที่กรมประมงและเจ้าหน้าที่ของโรงงานแปรรูป

9.กรมประมงร่วมกับสำนักมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าเกษตรได้จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้อง ยาที่ห้ามใช้และที่ใช้ได้เมื่อจำเป็น แจกจ่ายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ

10.กรมประมงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมงติดตามการใช้ยาของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

11.กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง Code of Conduct โดยมุ่งเน้นการผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพและการผลิตทุกขบวนการ ตั้งแต่ฟาร์มถึงการส่งออกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบใบรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โรงเพาะฟักและอนุบาลกุ้งทะเลตามมาตรฐาน CoC ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวน 23 ราย และโรงเพาะฟักจำนวน 3 แห่ง

12.กรมประมงได้จัดทำระบบการแก้ไขปัญหาสารตกค้างในสินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงอย่างครบวงจร และเป็นระบบที่กรมประมงได้แจ้งให้สหภาพยุโรป อเมริกา และแคนาดา ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

13.กรมประมงได้จัดทำโครงการตรวจสอบติดตามป้องกันยาปฏิชีวนะตกค้างในผลผลิตกุ้งเสนอขอใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวงเงิน 574 ล้านบาท ระยะดำเนินงาน 5 ปี

มาตรการป้องกันและแก้ไขสารตกค้างในสินค้ากุ้งตามมติคณะรัฐมนตรี

ระยะสั้น

1.เรียกสินค้ากุ้งที่อยู่ระหว่างเดินทางและไม่มีความมั่นใจในเรื่องสารตกค้างให้นำกลับมาตรวจสอบใหม่ และล่าสุดนำกลับมา 14 ตู้คอนเทนเนอร์จาก 5 บริษัท

2.ตรวจสอบสินค้ากุ้งที่ส่งออกไปต่างประเทศ 100%

3.ให้บริการตรวจสอบสารตกค้างให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตามศูนย์/สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

4.กรมประมงจัดทำหนังสือไปยังต่างประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบกุ้งเข้าประเทศไทย โดยผ่านทางสถานทูตได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเชีย บังกลาเทศ มาเลเชีย และพม่า เพื่อให้ผู้ส่งออกจัดทำใบปลอดโรค (Health Certification) จากประเทศต้นทางมาแสดงยังประเทศไทยด้วย พร้อมทั้งประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการตรวจสอบใบปลอดโรคอีกทางหนึ่งด้วย

5.ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลเสียของสารตกค้างในสินค้ากุ้ง และแนวทางในการผลิตกุ้งปลอดสารผ่านสื่อต่างๆ

6.รณรงค์และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลเสียของสารตกค้างโดยผ่านบริษัทค้าอาหารสัตว์น้ำ/เคมีภัณฑ์ โดยจัดทำฉลากติดถุงอาหาร

ระยะยาว

1.ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งระบบชีวภาพตามแนวทาง Code of Conduct เพื่อให้ได้กุ้งคุณภาพปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.กรมประมงมีแผนการควบคุมและตรวจสอบยาปฏิชีวนะที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจะควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต และซื้อขาย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกเวลาโดยการทำการดังนี้

oตรวจสอบในระดับฟาร์มและจัดทำหนังสือกำกับการซื้อ-ขายกุ้งกุลาดำ (Movement Document) ทุกครั้งที่มีการซื้อขาย

oปรับปรุงทะเบียนผู้เลี้ยงกุ้งทะเลให้เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการจัดทำ Movement Document และสอบกลับ

oจัดทำแบบสำรวจคลินิกสัตว์น้ำ เพื่อทราบถึงผู้ประกอบการด้านบริการแก่เกษตรกร ซึ่งทางราชการจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการต่อไป

oวางแผนชักจูงให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองผลผลิตกุ้งคุณภาพของกรมประมง ได้แก่ มาตรฐานฟาร์มเลี้ยง (Good Aquaculture Practice : GAP) และระบบการรับรองคุณภาพ (Code of Conduct ; CoC)

oสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้ง