บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งหน่อไม้ด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่ง

ทวีชัย วงศ์ศักดิ์ไพโรจน์

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2543. 92 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

การอบแห้งหน่อไม้ด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่ง  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองศึกษาจลศาสตร์การอบแห้งหน่อไม้เปรียบเทียบระหว่างการอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งกับการอบแห้งด้วยลมร้อน เพื่อหาวิธีการอบแห้งที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้งหน่อไม้ โดยทำการทดลองอบแห้งหน่อไม้ด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งและลมร้อนที่อุณหภูมิ 120, 140 และ 160 °C อัตราการไหลเชิงมวลประมาณ 0.024 kg/s มวลหน่อไม้ประมาณ 0.5 kg เพื่อลดความชื้นจากประมาณ 19 dry basis ลงเหลือประมาณ 0.17 dry basis และทำการเปรียบเทียบคุณภาพหน่อไม้หลังการอบแห้งระหว่างหน่อไม้แห้งที่ได้จากกระบวนการอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่ง ลมร้อนอุณหภูมิสูง ลมร้อนอุณหภูมิต่ำ (55 และ 70 °C) และหน่อไม้ตามแห้งที่มีจำหน่ายในตลาด

จากการทดลองพบว่า อัตราการอบแห้งหน่อไม้ด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งที่อุณหภูมิ 120 °C ต่ำกว่าการอบแห้งด้วยลมร้อน และมีค่าค่อนข้างใกล้เคียงกันเมื่ออุณหภูมิอบแห้งสูงขึ้นอยู่ในช่วง 140-160 °C ซึ่งมีค่าสูงกว่ากรณีที่ใช้อุณหภูมิอบแห้งต่ำ

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้ทำนายอัตราการอบแห้งซึ่งมีสมมติฐานการแพร่ความชื้นและการถ่ายเทมวลที่ผิวเป็นกลไกควบคุมการอบแห้ง สามารถทำนายการอบแห้งได้ค่อนข้างดีทั้งการอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งและลมร้อน จากผลการคำนวณอัตราการอบแห้งจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ความเร็วที่เหมาะสมในการอบแห้งหน่อไม้อยู่ในช่วง 1.5-2 m/s

คุณภาพในด้านสีของหน่อไม้หลังการอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งและลมร้อนโดยใช้อุณหภูมิสูงตลอดการอบแห้งอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับหน่อไม้แห้งที่มีจำหน่าย ขณะที่สีของหน่อไม้จากการอบแห้งด้วยลมร้อนอุณหภูมิต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและน่ารับประทาน