บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งผักด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบใช้ไอน้ำเป็นพลังงานเสริมระดับอุตสาหกรรม

วีนัส ทัดเนียม

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2542. 139 หน้า.

2542

บทคัดย่อ

การอบแห้งผักด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบใช้ไอน้ำเป็นพลังงานเสริมระดับอุตสาหกรรม เครื่องอบแห้งผักโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบใช้ไอน้ำเป็นพลังงานเสริมซึ่งมีความจุ 100 กิโลกรัม ได้ถูกออกแบบสร้างและทำการทดลองที่บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตร เขาค้อ จำกัด ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จะประกอบด้วยเครื่องอบแห้งจำนวน 4 เครื่อง เครื่องอบแห้ง 1 เครื่อง ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญดังนี้ แผงรับรังสีดวงอาทิตย์ขนาด 73 ตารางเมตร พัดลมขนาด 2 กิโลวัตต์ ห้องอบแห้งและเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างไอน้ำกับอากาศ เครื่องอบแห้งใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์และไอน้ำ สำหรับอบแห้งผักดังต่อไปนี้ หอมแบ่ง กะหล่ำปลี ขิง ขมิ้น กล้วยดิบ กะเพรา และพริก พื้นที่รับรังสีดวงอาทิตย์รวมของระบบอบแห้ง 292 ตารางเมตร ความร้อนของไอน้ำจะนำมาใช้เสริมเมื่อความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบแผงรับรังสีมีค่าต่ำ หม้อไอน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ 5 ตันต่อชั่วโมง และไอน้ำนี้จะถูกนำไปใช้แลกเปลี่ยนความร้อนที่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน อุณหภูมิในห้องอบแห้งถูกควบคุมไว้ที่ 60 °C ในแต่ละการทดลอง อากาศจะถูกดูดจากแผงรังสีอาทิตย์และถูกทำให้ร้อนขึ้นโดยเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าค่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ต่อจากนั้นอากาศจะผ่านไปยังพัดลมและถูกเป่าเข้าไปในห้องอบแห้งในการอบแห้งผักที่มีความชื้นเริ่มต้น 75-85% มาตรฐานเปียกจะถูกอบแห้งจนกระทั่งความชื้นสุดท้ายลดลงเหลือ 5-10% มาตรฐานเปียก โดยใช้เวลาในการอบ 4-6 ชั่วโมง จากผลการทดลองอบแห้งพบว่า ประสิทธิภาพของตู้อบแห้งมีค่า 43% ประสิทธิภาพของแผงรับรังสี 53% ประสิทธิภาพของระบบอบแห้ง 18% จากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย พบว่า ค่าใช้จ่ายรวมในการอบแห้งมีค่า 3.7 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่อง 2.1 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1.6 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย พลังงานในการอบแห้งเฉลี่ยต่อวัน 8270 MJ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 4545 MJ เป็นพลังงานจากไอน้ำ 3427 MJ และเป็นพลังงานจากไฟฟ้า 300 MJ