การอบแห้งข้าวเปลือกและข้าวโพดในที่เก็บและการเก็บรักษาในสภาพที่ใช้งานจริง
พิพัฒน์ อมตฉายา
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. เทคโนโลยีพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2538. 166 หน้า.
2538
บทคัดย่อ
การอบแห้งข้าวเปลือกและข้าวโพดในที่เก็บและการเก็บรักษาในสภาพที่ใช้งานจริง
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการอบแห้งข้าวเปลือกและข้าวโพดในที่เก็บในสภาพที่ใช้งานจริง สำหรับการอบแห้งข้าวโพดได้ไปทำการทดลองที่ชุมชนสหกรณ์การเกษตรฉะเชิงเทรา จำกัด โดยใช้อากาศแวดล้อมเป่าผ่านกองข้าวเปลือกที่มีความจุ 105 ตัน ด้วยอัตราการไหลอากาศ 0.57 m
3/min-m
3 ข้าวเปลือก ทำการเก็บข้อมูลที่ผิวบน, ที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร, 2 เมตร และ 4 เมตร จากผิวกองข้าวเปลือก พบว่าในการลดความชื้นข้าวเปลือกจากความชื้นเฉลี่ย 17% มาตรฐานเปียก เหลือ 11.59% มาตรฐานเปียก ใช้เวลาในการอบแห้ง 9 สัปดาห์ โดยที่ชั้นความลึก 4 เมตร, 2 เมตร จะแห้งเร็วกว่าที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร และที่ผิวบน ตามลำดับ หลังจากที่อบแห้งและเก็บรักษาในที่เก็บนาน 28 สัปดาห์ จะให้ความสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าในช่วงการอบแห้งประมาณ 21 บาท/ตันข้าวเปลือก หรือ 0.31 บาท/กิโลกรัมน้ำที่ระเหย และในช่วงการเก็บรักษา 1.97 บาท/ตันข้าวเปลือก เทคนิคการอบแห้งและการเก็บรักษาในที่เก็บโดยใช้อากาศแวดล้อมสามารถรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสียหาย กล่าวคือ ความขาวของข้าวสารและเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับคุณภาพของข้าวเปลือกที่ใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิง เมื่อนำข้าวเปลือกที่ผ่านการอบแห้งโดยเทคนิคนี้มาทำการสีพบว่า เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่ได้สูงกว่าเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่ได้จากการตากลาน 8% จากการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์โดยใช้อัตราส่วนลด 10% และ 15% พบว่าในกรณีที่มีฉางเก็บอยู่แล้ว ลงทุนเฉพาะการเติมท่อลมและการอบแห้ง 1 ครั้ง/ปี จะคุ้มทุนภายในเวลา 1.8 ปี และ 1.9 ปี ตามลำดับ สำหรับกรณีที่อบแห้ง 2 ครั้ง/ปี จะคุ้มทุนภายในเวลา 0.7-1 ปี และ 0.8-1 ปี และจากการเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนของระบบอบแห้งในที่เก็บกับลานตาก โดยใช้อัตราส่วนลด 10% และ 15% พบว่าการลงทุนในระบบอบแห้งในที่เก็บ กรณีไม่มีฉางเก็บจะคุ้มทุนภายในเวลา 9 ปี และ 15-16 ปี สำหรับการลงทุนในลานตากไม่มีความคุ้มทุน จากการวิเคราะห์ความไวพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเงินสุทธิของโครงการคือ รายรับและรายจ่ายของโครงการ
ในกรณีของการอบแห้งข้าวโพดในที่เก็บได้ทำการทดลองที่สหกรณ์การเกษตรนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จำกัด โดยใช้อัตราการไหลอากาศแวดล้อม 5.44 m3/min-m3 ข้าวโพด เป่าผ่านกองข้าวโพดที่มีความจุ 30 ตัน และทำการเก็บตัวอย่างข้าวโพดที่ระดับผิวบน, ที่ระดับความลึกจากผิว 30 เซนติเมตร, 75 เซนติเมตร และ 1.2 เมตร จากการทดลองพบว่าเปอร์เซ็นต์เมล็ดข้าวโพดที่ติดเชื้อรา Aspergillus flavus เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปริมาณ Aflatoxin B1 ที่ตรวจพบไม่เพิ่มขึ้น ในการลดความชื้นข้าวโพดจาก 19% มาตรฐานเปียก เหลือ 12.5% มาตรฐานเปียก ใช้เวลาในการอบแห้งประมาณ 20 วัน ให้ความสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 22.50 บาท/ตันข้าวโพด หรือ 0.32 บาท/กิโลกรัมน้ำที่ระเหย จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการลงทุนในระบบอบแห้งในฉางเก็บและลาดตาก โดยใช้อัตราส่วนลด 10% และ 15% พบว่าไม่มีความคุ้มทุนทั้งสองกรณี และค่าใช้จ่ายของโครงการมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงเงินสุทธิของโครงการ