บทคัดย่องานวิจัย

การเพิ่มปริมาณต้นข้าวของข้าวคุณภาพต่ำโดยการแช่ร่วมกับการอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด

สุทธินี วานิชสำราญ

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีการจัดการพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2545. 100 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

การเพิ่มปริมาณต้นข้าวของข้าวคุณภาพต่ำโดยการแช่ร่วมกับการอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด  งานวิจัยนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการเพิ่มปริมาณต้นข้าวของข้าวคุณภาพต่ำโดยการแช่ร่วมกับการอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด โดยพิจารณาถึงอิทธิพลของความชื้นเริ่มต้นของข้าวเปลือกก่อนแช่ ระยะเวลาที่ใช้ในการแช่ข้าวเปลือกและระยะเวลาที่ใช้ในการอบแห้งด้วยฟลูอิไดซ์เบดที่มีต่อการเพิ่มปริมาณต้นข้าว, สี, White belly, ค่าความแข็งของข้าวสุก, ค่าการยึดเกาะตัวอของข้าวสุก, ความหนืดของน้ำแห้ง และการเกิดเจลาทิไนเซชัน ซึ่งทำการทดลองโดยใช้ข้าวเปลือกที่มีความชื้นเริ่มต้นก่อนแช่ 13, 15 และ 17% d.b. แช่ในน้ำอุณหภูมิ 80 °C เป็นเวลา 0.5-4 ชั่วโมง แล้วนำมาอบแห้งด้วยเครื่องฟลูอิไดซ์เบดที่อุณหภูมิอบแห้ง 150 °C เป็นระยะเวลา 2-4 นาที จากนั้นนำข้าวเปลือกไปเก็บในที่อับอากาศเป็นเวลา 30 นาที แล้วนำไปเป่าด้วยอากาศแวดล้อมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากผลการศึกษาพบว่า การแช่และการอบแห้งด้วยฟลูอิไดซ์เบดสามารถเพิ่มปริมาณต้นข้าวได้สูงสุด เมื่อแช่เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง และอบแห้ง 3 นาที โดยคุณภาพด้านความขาวและ White belly อยู่ในเกณฑ์ดี ความขาวและ White belly จะลดลงตามเวลาที่เพิ่มขึ้นของการแช่ และการอบแห้ง

จากการทดสอบเนื้อสัมผัส พบว่า ข้าวสุกจะแข็งและร่วนขึ้น เมื่อใช้เวลาในการอบแห้งมากขึ้น ที่ระยะเวลาการแช่เท่ากัน นอกจากนี้ ยังทำให้ค่า Peak viscosity และ Final viscosity มีค่าลดลง แต่ค่า Pasting temperature สูงขึ้น ในการวิเคราะห์การเกิดเจลาทิไนเซชันด้วยเครื่อง DSC ข้าวที่แช่นาน 4 ชั่วโมงเกิดการ Gelatinization มากกว่าข้าวที่แช่เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง โดยมี Degree of gelatinization เท่ากับ 74.8% และ 60.8% ตามลำดับ