บทคัดย่องานวิจัย

การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี ดัชนีการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา และการบ่มให้สุกของผลมะม่วงพันธุ์แก้วจุก

สายชล เกตุษา วิจิตร วังใน และกาญจนา เหลืองสุวาลัย

รายงานผลการวิจัยประจำปี 2538 โครงการวิจัยรหัส ม-ผ 8.1.38 สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2538. 62 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี ดัชนีการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา และการบ่มให้สุกของผลมะม่วงพันธุ์แก้วจุก  การศึกษาการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี และดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์แก้วจุก ปลูกที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในระหว่างปี 2537-2538 พบว่า ผลและเมล็ดมีการเจริญเติบโตแบบ simple sigmoid curve เปลือกหุ้มเมล็ด (endocarp) เริ่มแข็งในสัปดาห์ที่ 9 เมื่อผลมะม่วงมีอายุมากขึ้น ปริมาณ soluble solids ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด แป้ง น้ำหนักแห้ง และเบต้าแคโรทีนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ และความแน่นเนื้อลดลง โดยผลมะม่วงแก้วจุกใช้เวลาในการเจริญเติบโต ตั้งแต่ติดผลจนกระทั่งผลแก่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 14-16 สัปดาห์ สามารถใช้การนับอายุผล ความถ่วงจำเพาะ และปริมาณความร้อนสะสมเป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวได้

การเก็บรักษาผลมะม่วงแก้วจุกที่อุณหภูมิ 9 และ 12°ซ. (ความชื้นสัมพัทธ์ 93-96%) สามารถเก็บรักษาได้นาน 24 วัน โดยผลมะม่วงไม่สุกในระหว่างการเก็บรักษา และไม่พบความเสียหายเนื่องจากโรคและอุณหภูมิต่ำที่ผิวและเนื้อผล ตลอดอายุการเก็บรักษา แต่พบอาการสีเทาดำและสีน้ำตาลในเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ด หลังจากเก็บรักษาตั้งแต่ 9 วันขึ้นไปที่อุณหภูมิทั้ง 2 ระดับ

การบ่มผลมะม่วงแก้วจุกโดยใช้ก๊าซเอทธิลีน อัตรา 200 ppm และแคลเซียมคาร์ไบด์ อัตรา 10 และ 20 กรัม/น้ำหนักผลสด 1 กิโลกรัม นาน 24 และ 48 ชั่วโมง พบว่าการบ่มผลมะม่วงด้วยวิธีต่างๆ เมื่อผลสุกมีคุณลักษณะและคุณภาพสำหรับการรับประทานไม่แตกต่างกัน การบ่มช่วยให้ผลมะม่วงสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ได้บ่ม 3-4 วัน และผลสุกมีการพัฒนาของสีผิวได้ดี ผลสุกพร้อมกัน การบ่มผลมะม่วงโดยก๊าซเอทธิลีนและแคลเซียมคาร์ไบด์นาน 48 ชั่วโมง ทำให้ผลมะม่วงสุกเร็วกว่าการบ่มนาน 24 ชั่วโมง

Abstract