การปรับปรุงคุณภาพและยืดอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้
สายชล เกตุษา เกยูร ธีรเจริญปัญญา และอัจฉรา บุญโรจน์
รายงานผลการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ, 2528. 20 หน้า.
2528
บทคัดย่อ
ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าชาวสวนร้อยละ 82.52 ตัดดอกกล้วยไม้โดยการหักด้วยมือ หลังจากการตัดดอกกล้วยไม้แล้วมีทั้งการให้น้ำและไม่ให้น้ำกับดอกกล้วยไม้ การให้น้ำอาจจะใช้ผ้าขาวบางเปียกคลุม การพรมน้ำ หรือการแช่โคนก้านช่อดอกในน้ำ น้ำที่ชาวสวนให้ดอกกล้วยไม้เป็นชนิดเดียวกับน้ำที่ใช้รดต้นกล้วยไม้และร้อยละ 81.97 เป็นน้ำคลอง ดอกกล้วยไม้ต้องรออยู่ที่สวนนาน 1-2 ชั่วโมงก่อนที่บริษัทผู้ส่งออกจะมารับ ชาวสวนทั้งหมดไม่เคยใช้น้ำยายืดอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้ ผู้ส่งออกส่วนมากใช้รถยนต์บรรทุกขนาดเล็กไปรับดอกกล้วยไม้จากชาวสวน ก่นอการบรรจุดอกกล้วยไม้มีการตัดโคนก้านช่อดอกแล้วเสียบโคนก้านช่อดอกในหลอดพลาติกที่มีน้ำ หรือหุ้มโคนก้านช่อดอกด้วยสำลีที่เปียกน้ำ น้ำที่อยู่ในหลอดพลาสติกและทำให้สำลีเปียกเป็นน้ำประปา ผู้ส่งออกไม่เคยใช้น้ำยายืดอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้และไม่เคยลดอุณหภูมิของดอกกล้วยไม้ก่อนหรือหลังการบรรจุดอกกล้วยไม้ลงในกล่องกระดาษ ดอกกล้วยไม้ที่นำส่งสนามบินต้องรออยู่ที่สนามบินนาน 4-6 ชั่วโมง และอยู่ในสภาพที่ไม่มีการปรับอุณหภูมิ ผู้ส่งออกร้อยละ 87.50 เคยได้รับการร้องทุกข์จากผู้รับปลายทางเกี่ยวกับคุณภาพที่ไม่ดีของดอกกล้วยไม้ ซึ่งร้อยละ 63.57 เกี่ยวกับเรื่องดอกเหี่ยวเร็ว และร้อยละ 36.48 เกี่ยวกับเรื่องดอกร่วง
ความห่างของดอกย่อยระหว่างตำแหน่งที่ 3 และ 4 จากโคนก้านช่อดอก จำนวนของปากใบ และขนาดของปากใบในกลีบดอกไม่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 1 ปี แต่ขนาดของดอกย่อยในตำแหน่งที่ 3 จากโคนช่อดอก การบานของดอกตูม การเริ่มเหี่ยวของดอกบาน และอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 1 ปี ขนาดของดอกที่ใหญ่ การเหี่ยวช้าของดอกบาน การบานของดอกตูมที่เพิ่มขึ้น และอายุการใช้งานที่นานขึ้นของดอกกล้วยไม้ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-กันยายน) และอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในห้องที่ปักแจกันดอกกล้วยไม้ลดลงและเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ดอกกล้วยไม้ที่อยู่ในถุงพลาสติกอย่างบางและหนาทั้งที่เปิดและปิดปากถุงซึ่งเติมคาร์บอนไดออกไซด์ 01020 และ 40 เปอร์เซ็นต์ แล้ววางไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 2-3 วัน แล้วนำดอกกล้วยไม้มาปักแจกัน ดอกกล้วยไม้ในถุงพลาสติกหนาที่เติมคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่าดอกกล้วยไม้ในถุงพลาสติกบางที่เติมคาร์บอนไดออกไซด์ ดอกกล้วยไม้ในถุงพลาสติกหนาที่เติมคาร์บอนไดออกไซด์ 20 เปอร์เซ็นต์ มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นประมาณ 41.8-108.3 เปอร์เซ็นต์ คาร์บอนไดออกไซด์ยังทำให้การร่วงของดอกย่อยของดอกกล้วยไม้ลดลงระหว่างที่อยู่ในถุงพลาสติก
ดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในสารละลายซูโครส 2-10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันลดลง ขณะที่ดอกกล้วยไม้ปักแจกันในสารละลาย 8-ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟท 50-200 พีพีเอ็ม หรือเงินไนเตรท 10-30 พีพีเอ็ม ทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น เมื่อปักแจกันดอกกล้วยไม้ในสารละลายที่มีทั้ง 8-ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟท เงินไนเตรท และซูโครส ทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันและดอกตูมบานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และสูตรของสารละลายหรือน้ำยาที่เหมาะสมที่สุดคือ 8-ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟท 200 พีพีเอ็ม + เงินไนเตรท 10 พีพีเอ็ม + ซูโครส 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น 85.87-89.45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้เงินในรูปของเกลือไธโอซัลเฟทแทนเกลือไนเตรทในน้ำยาสูตรนี้สำหรับการปักแจกันหรือแช่โคนก้านช่อดอกเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนนำไปปักแจกัน ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ น้ำยาสูตรนี้ที่ได้จากการทดลองดีกว่าน้ำยาทางการค้าจากต่างประเทศ 2 ชนิด ทั้งในด้านการยืดอายุการปักแจกันและการเพิ่มการบานของดอกตูมของดอกกล้วยไม้ เมื่อทดลองใช้น้ำยาสูตรนี้กับดอกกล้วยไม้ที่บรรจุเลียนแบบการส่งออก พบว่าดอกกล้วยไม้ที่โคนก้านช่อดอกเสียบอยู่ในหลอดพลาสติกที่มีน้ำหรือน้ำยาขณะอยู่ในกล่องกระดาษนาน 3 วัน แล้วนำไปปักแจกันในน้ำยาสูตรนี้ ทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันมากกว่าดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในน้ำกลั่นถึง 111.89-120.16 เปอร์เซ็นต์