บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ตภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์และผลของสารเคลือบผิวและสารป้องกันกำจัดเชื้อรา

จริงแท้ ศิริพานิช

รายงานการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ. 2541. 41 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

คุณภาพของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ตภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์และผลของสารเคลือบผิวและสารป้องกันกำจัดเชื้อรา    การเก็บรักษาสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุม (3%O2 และ 10%CO2) และบรรยากาศปกติที่อุณหภูมิ 10 + 0.5 °ซ. เป็นเวลา 30 วันแล้วย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 20 °ซ. เป็นเวลา 1, 3 และ 5 วัน พบว่า สับปะรดที่ผ่านการเก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมและเคลือบผิวด้วยไขความเข้มข้นสูง เกิดอาการไส้สีน้ำตาลต่ำกว่าสับปะรดที่ผ่านการเก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศปกติและสภาพบรรยากาศควบคุมแต่ไม่ได้เคลือบผิว การเก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมและการเคลือบผิวทำให้สับปะรดส่วนใหญ่มีปริมาณกรดที่ไทเทรตได้และวิตามินซีลดลง สับปะรดที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติมีความผิดปกติด้านกลิ่นและรสมากกว่าการเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศควบคุม หากย้ายสับปะรดจากสภาพบรรยากาศควบคุมมาเก็บรักษาต่อที่สภาพบรรยากาศที่อุณหภูมิ 10 °ซ. เป็นเวลา 3 และ 7 วัน พบว่า ผลที่มีความบริบูรณ์มากและเคลือบผิวด้วยไขความเข้มข้นสูงมีความผิดปกติด้านกลิ่นและรสมากกว่าการไม่เคลือบผิวและการเคลือบผิวด้วยไขความเข้มข้นต่ำ และผลสับปะรดที่มีความบริบูรณ์มากจะเกิดอาการไส้สีน้ำตาลน้อยที่สุด

การเก็บรักษาสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมและบรรยากาศปกติที่อุณหภูมิ 10 °ซ. เป็นเวลา 30 วัน แล้วย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 20 °ซ. เป็นเวลา 1, 3, 5 และ 7 วัน พบว่าคุณภาพภายนอกของสับปะรดที่ผ่านการเก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุมยังสูงใกล้เคียงกับสับปะรดที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาจากแปลง เนื้อผลภายในมีอาการไส้สีน้ำตาลต่ำกว่าสับปะรดที่ผ่านการเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติ และอาการไส้สีน้ำตาลพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อย้ายมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 °ซ.

การใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา benomyl, carbendazim, procymidone และ thiabendazole ความเข้มข้น 5000 ppm ป้ายบริเวณรอยหักก้านผลของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียแล้วเก็บในสภาพบรรยากาศควบคุมที่อุณหภูมิ 10 °ซ. เป็นเวลา 30 วัน แล้วย้ายมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ พบว่า สารป้องกันกำจัดเชื้อรา benomyl และ procymidone สามารถควบคุมปริมาณเชื้อราได้ดี เมื่อผ่าผลสับปะรดตามยาวพบรอยซ้ำบริเวณรอยหักก้านผลในผลผลที่ป้ายด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา benomyl น้อยกว่าการใช้สารอื่นๆ