ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการแตกและสุกของผลทุเรียน
จริงแท้ ศิริพานิช สิริพันธ์ ศรียุกต์ และ สมบูรณ์ ศิริอธิวัฒน์
รายงานผลการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ, 2531. 40 หน้า.
2531
บทคัดย่อ
การทดลองควบคุมการแตกของผลทุเรียนพันธุ์ชะนี โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช 8 ชนิด ได้แก่ IBA (1,000 และ 5,000 ppm), 2,4-D (100 และ 1,000 ppm), 2,4,5-T (100 และ 1,000 ppm), GA3 (10 และ 100 ppm), BAP (10 และ 100 ppm), daminozide (500 และ 5,000 ppm), mepiquat chloride (25 และ 100 ppm) และ ethephon 1,000 ppm พบว่า GA3 100 ppm เท่านั้นที่ทำให้ทุเรียนแตกช้ากว่าการไม่ใช้สารเป็นเวลา 1-2 วัน และสามารถรักษาความเขียวสดของทุเรียนไว้ได้ตลอดการเก็บรักษา 6 วัน ในขณะที่ ethephon 1,000 ppm มีแนวโน้มทำให้ทุเรียนแตกเร็วขึ้น 0.8 วัน ส่วนผลของสารเหล่านี้ต่อกระบวนการสุกอื่นๆ ของทุเรียนไม่เด่นชัด
การใช้สารเคลือบผิวสี่ชนิดได้แก่ Semperfresh, Apple wax, Storage wax และ FMC360 ความเข้มข้นต่างๆ ตามคำแนะนำของผู้ผลิตกับผลทุเรียนพันธุ์ชะนี ทำให้การสูญเสียน้ำออกจากผลทุเรียนลดลง ปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เอทธิลีนลดลงมากกว่าในทุเรียนปกติ เป็นผลทำให้ทั้งการสุกและแตกของผลทุเรียนช้าลง สารเคลือบผิวที่ใช้ได้ผลดีได้แก่ Semperfresh ความเข้มข้น 1% ช่วยชะลอการสุกและแตกของผลทุเรียนออกไปได้เท่าตัว