บทคัดย่องานวิจัย

การปอกผลและการเก็บรักษาเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

ดารณี ปานขลิบ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2544, 110 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การปอกผลและการเก็บรักษาเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง  การปอกเปลือกทุเรียนตามรอยสาแหรกทำได้ยาก และเกิดความเสียหายได้มากกว่าการปอกเปลือกตามร่องพูในวันที่ทุเรียนเริ่มสุก และจะปอกได้ง่ายขึ้นเกิดความเสียหายน้อยลงเมื่อทุเรียนสุกมากขึ้น เนื้อทุเรียนที่ได้จากการปอกเปลือกทั้ง 2 วิธี เมื่อเก็บรักษาไว้ที่ 25°ซ. มีการเน่าเสียใกล้เคียงกัน การจัดให้ผลทุเรียนหมอนทองอายุ 113 และ 120 วันหลังดอกบานไว้ในสภาพปกติ สภาพที่มีลมแรง ได้รับการพ่นเอทีฟอน 2,000 ml/l หรือได้รับการป้ายขั้วผลด้วยเอทีฟอน 10,000ml/l ก่อนการเก็บรักษาในสภาพปกติ หรือในที่มีลมแรง พบว่าการใช้เอทีฟอนและสภาพที่มีลมแรงทำให้ทุเรียนมีการแตกของผล และการสูญเสียน้ำหนักมากกว่า และปอกได้ง่ายกว่าทุเรียนที่เก็บรักษาไว้ในสภาพปกติ แต่เนื้อทุเรียนมีความแน่นเนื้อสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบขณะที่ผลเริ่มแตกหรือปอกได้ง่ายแล้ว

การเก็บรักษาเนื้อทุเรียนทั้งพูจากผลทุเรียนอายุ 106113 และ 120 วันหลังดอกบานในถาดโฟมหุ้มด้วยฟิล์มยืดพลาสติก เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 และ 10°ซ. นาน 15 วัน พบว่าทุเรียนทั้ง 3 อายุมีคุณภาพใกล้เคียงกัน การเก็บรักษาเนื้อทุเรียนที่อุณหภูมิ 2°ซ. สามารถเก็บรักษาได้นานที่สุด โดยที่เนื้อทุเรียนมีคุณภาพเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่ถ้าเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 และ 10°ซ. ทุเรียนพัฒนาการสุกได้มากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนเนื้อห่ามเมื่อผ่าจากผลมีการสุกมากขึ้นคุณภาพดีขึ้นเมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้น ส่วนการควบคุมการเน่าเสียของเนื้อทุเรียนก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25°ซ. โดยใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ ไอระเหิดของแอลกอฮอล์ และการฉายรังสีให้กับเนื้อทุเรียน สามารถยับยั้งการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราของสารหรือวิธีที่ใช้ และการใช้ไอระเหิดของแอลกอฮอล์เป็นวิธีที่ง่ายต่อการจัดการมากที่สุด