บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันส่งออกมังคุดของประเทศไทย

ประภารัตน์ ศรีเพชร

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 119 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันส่งออกมังคุดของประเทศไทย   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการผลิตและการตลาด วิเคราะห์ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดส่งออกโดยใช้แบบจำลองส่วนแบ่งตลาดคงที่ และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้ามังคุดของฮ่องกงจากไทย ในการศึกษาได้นำแบบจำลองทางเศรษฐมิติมาใช้ในการประมาณค่าแบบจำลองด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบธรรมดา จากการศึกษาภาวะการผลิต พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในจังหวัดระยอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า

ผลการศึกษาความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏของไทยและอินโดนีเซียในตลาด ฮ่องกง ระหว่างปี 2537-2539 และ 2540-2542 พบว่าทั้งสองประเทศมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏมากกว่า 1 สำหรับผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดในฮ่องกงในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าส่วนแบ่งตลาดมังคุดของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70.92 เป็นร้อยละ 73.16 ทั้งนี้เป็นผลจากขนาดของตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.91 และผลจากการแข่งขันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.09 สำหรับผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้ามังคุดของฮ่องกงจากไทย คือ ราคาส่งออกมังคุดของไทยไปฮ่องกงปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของฮ่องกง และรายได้ประชาชาติต่อบุคคลของฮ่องกงปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของฮ่องกง โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปริมาณการนำเข้ามังคุดของฮ่องกงจากไทย เท่ากับ –2.450042 และ 1.950597 ตามลำดับ

จากผลการศึกษาทำให้ได้แนวนโยบายการเพิ่มปริมาณการส่งออกมังคุดของไทยไปฮ่องกง ควรมีการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานมังคุด และการบรรจุหีบห่อเพื่อการส่งออก สำหรับนโยบายทางด้านราคาควรมีการลดราคาส่งออกมังคุดของไทย และควรทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในตลาดอื่นๆ ให้รู้จักมังคุดจากไทยมากขึ้น