บทคัดย่องานวิจัย

การใช้เอทธิลีนไดโบรไมด์รมเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ (Dacus dorsalis Hendel) ในผลมะม่วงหลังจากเก็บเกี่ยว

ชลิดา สังข์ทอง

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาสาขาวิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2525, 64 หน้า.

2525

บทคัดย่อ

การใช้เอทธิลีนไดโบรไมด์รมเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ (Dacus dorsalis Hendel) ในผลมะม่วงหลังจากเก็บเกี่ยว   การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพของเอทธิลีนไดโบรไมด์ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ (Dacus dorsalis Hendel) ในมะม่วงหนังกลางวันและน้ำดอกไม้ รวมทั้งศึกษาปริมาณตกค้างของเอทธิลีนไดโบรไมด์ในผลมะม่วง และผลกระทบของเอทธิลีนไดโบรไมด์ต่อรสและปริมาณน้ำตาลของมะม่วงทั้งสองพันธุ์หลังจากรมยา มะม่วงที่ใช้ในการศึกษานี้รมด้วยเอทธิลีนไดโบรไมด์ในอัตราความเข้มข้น 4, 8 และ 12 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในตู้รมยาขนาด 0.5 ลูกบาศก์เมตร ที่อุณหภูมิ 27.2 องศาเซลเซียส รมเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง

ผลการทดลองปรากฏว่า เอทธิลีนไดโบรไมด์ที่อัตราความเข้มข้น 4 กรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ผลดีเฉพาะในการกำจัดไข่และหนอนวัย 1 ของแมลงวันผลไม้ในมะม่วงทั้งสองพันธุ์ แต่ให้ผลไม่ดีเท่าที่ควรในการกำจัดหนอนวัย 2 และ 3 ของแมลงวันผลไม้ ส่วนที่อัตราความเข้มข้น 8 และ 12 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดไข่และหนอนทุกวัยของแมลงวันผลไม้ในมะม่วงทั้งสองพันธุ์

จากการวิเคราะห์มะม่วงทั้งสองพันธุ์เพื่อหาปริมาณตกค้างของเอทธิลีนไดโบรไมด์ด้วยเครื่องแก๊สโครมาโตกราฟ หลังจากการรมยา 1, 3 และ 7 วัน ผลปรากฏว่า หลังจากรมยา 1 วัน ที่อัตราทุกความเข้มข้นปริมาณตกค้างของเอทธิลีนไดโบรไมด์ในมะม่วงทั้งสองพันธุ์อยู่ในระดับสูงกว่าค่าปลอดภัย (ค่าปลอดภัยของเอทธิลีนไดโบรไมด์ในมะม่วงประมาณ 0.03 ppm) แต่ปริมาณเอทธิลีนไดโบรไมด์ที่ตกค้างจะลดลงอย่างรวดเร็วตามระยะเวลาหลังจากการรมยา ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากการรมยา ปริมาณตกค้างของเอทธิลีนไดโบรไมด์ทุกอัตราความเข้มข้นจะลดลงต่ำกว่าค่าปลอดภัย ยกเว้นที่อัตราความเข้มข้น 12 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปริมาณตกค้างของเอทธิลีนไดโบรไมด์ในมะม่วงหนังกลางวันจะเหลืออยู่ 0.065 ppm ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าปลอดภัย

การศึกษาผลกระทบของเอทธิลีนไดโบรไมด์ต่อมะม่วงหลังจากการรมยา แสดงให้เห็นว่า เอทธิลีนไดโบรไมด์ไม่มีผลต่อรสของมะม่วงทั้งสองพันธุ์ แต่มีแนวโน้มทำให้ปริมาณน้ำตาลในผลมะม่วงสูงขึ้นกว่าผลมะม่วงที่ไม่ได้รับการรมยาเล็กน้อย