บทคัดย่องานวิจัย

การผลิตและการตลาดของขนุนในตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2530

ณัฐวุฒิ พลอยอร่าม

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2531. 141 หน้า.

2531

บทคัดย่อ

การผลิตและการตลาดของขนุนในตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2530   ในปัจจุบันผลผลิตของขนุนทำรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะขนุนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตำบลสุรศักดิ์เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านยกเว้นหมู่บ้านที่ 4 มีการปลูกขนุนเป็นพืชหลักโดยมีพื้นที่ปลูกขนุนมากถึง 3,260 ไร่ และปลูกได้ผลดี โดยทั่วไปการศึกษาการผลิตและการตลาดของขนุนในตำบลนี้จะสามารถเป็นตัวอย่างและใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาส่งเสริมการปลูกขนุนในท้องที่อื่นต่อไป

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคมบางประการของเกษตรกรในตำบลสุรศักดิ์ สภาพการผลิตและการตลาดของขนุน ปัญหาและอุปสรรคในการผลิตและการตลาดขนุนของเกษตรกร และการช่วยเหลือที่เกษตรกรต้องการจากรัฐบาล

การรวบรวมข้อมูลทำโดยการสัมภาษณ์ประชากรตัวอย่างซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ตำบลสุรศักดิ์ 8 หมู่บ้าน จำนวน 153 คน และได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพี่อหาค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต และค่าไคสแควร์

ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนมากเป็นเพศชาย จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 มีอายุเฉลี่ย 48.11 ปี และจำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 6 คน อาชีพหลักคือการทำสวนขนุน อาชีพรองคือการปลูกพืชอายุสั้นและเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่ใช้แรงงานภายในครอบครัว 2-3 คน รายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 80.220 บาท/ปี มีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ยครอบครัวละ 27.5 ไร่ แหล่งความรู้ทางการเกษตรของเกษตรกรส่วนมากคือการศึกษาด้วยตนเอง และทางวิทยุกับโทรทัศน์

สภาพการผลิตและการตลาดของขนุนของเกษตรกร เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกขนุนเฉลี่ยครอบครัวละ 9.89 ไร่ ปลูกขนุนเฉลี่ย 20 ต้น/ไร่ ขนุนส่วนมากปลูกโดยใช้เมล็ด อายุให้ผลนับแต่วันปลูกถึงเริ่มให้ผลครั้งแรกประมาณ 5 ปี เมื่ออายุต้นขนุน 7-10 ปี จะให้ผลผลิตคิดเป็นน้ำหนักทั้งผล 8.893 กก./ไร่/ปี ราคาขนุนทั้งผล ณ ที่สวนของเกษตรกรอยู่ในระหว่าง 2.50-8.00 บาท/ผล เกษตรกรส่วนหนึ่งปลูกขนุนขายส่งให้โรงงานอุตสาหกรรมและอีกส่วนหนึ่งขายให้พ่อค้าแกะขนุนสดจำหน่าย ส่วนมากพ่อค้าจะเข้าไปรับซื้อผลผลิตในสวนของเกษตรกรเลย การจ่ายเงินของพ่อค้าเกือบทั้งหมดจ่ายเป็นเงินสด

ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรส่วนมากคือ ปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูขนุน เกษตรกรส่วนมากยังต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในหลายเรื่อง เรื่องที่ต้องการมากคือ วิธีการปฏิบัติดูแลรักษาสวนขนุนและการปรับปรุงพันธุ์ขนุนตามแนวทางวิชาการ

นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรที่มีการดำเนินการในการผลิตและจำหน่ายขนุนต่างกัน จะแตกต่างกันในเรื่องแรงงานในทางการเกษตร และจำนวนต้นขนุนที่ปลูก แต่จะไม่แตกต่างกันในเรื่องของระดับการศึกษา การเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพการเกษตร และการเข้ารับการฝึกอบรม

ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรควรพิจารณาแก้ไข

1.ปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นกับสวนขนุนของเกษตรกร

2. จัดให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับตำบล ได้รับทราบวิธีการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชดังกล่าว โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการจริงในพื้นที่ๆ มีปัญหา

3.ให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ เพื่อจะได้มีอำนาจในการซื้อขายมากขึ้นฃ

4.ทางจังหวัดชลบุรีควรจะได้ประสานงานกับกรมชลประทานเพื่อจะได้นำน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองฆ้อมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสวนขนุนด้วย

5.แนะนำเกษตรกรแก้ปัญหาที่ดินบางจุดที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืชด้วยการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักใส่ลงในพื้นที่นั้นๆ

6.ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรแนะนำการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะได้ผลดีกว่าใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว