การออกแบบและประเมินผลเครื่องสีตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก
จิรพงษ์ แสนศักดิ์
วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544. 168 หน้า.
2544
บทคัดย่อ
1. ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ พบว่าเมล็ดข้าวเปลือกแต่ละพันธุ์มีขนาดที่แตกต่างกันน้อยมาก จึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบชุดกะเทาะให้สามารถปรับระยะห่างระหว่างลูกยางกะเทาะได้โดยละเอียดและสัมพันธ์กับขนาดของเมล็ดที่แตกต่างกันไม่มาก ระยะห่างระหว่างลูกยางกะเทาะข้าวเปลือกที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 0.50 ถึง 0.85 มิลลิเมตร และระยะเวลาขัดขาวที่เหมาะสมในการขัดขาวข้าวกล้องควรอยู่ระหว่าง 50 ถึง 90 วินาที
2.เครื่องสีตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกต้นแบบที่ออกแบบและพัฒนาประกอบด้วยชุดกะเทาะข้าวเปลือก ชุดขัดขาวข้าวกล้อง ชุดคัดขนาดข้าวสาร พัดลมทำความสะอาด และชุดควบคุมการทำงานของเครื่องซึ่งติดตั้งไว้ในโครงสร้างเดียวกัน สามารถถอดประกอบได้โดยง่ายและทำงานได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นกะเทาะข้าวเปลือกจนกระทั่งเสร็จสิ้นขั้นตอนการคัดขนาดข้าวสาร หรืออาจแยกส่วนเพื่อทำงานในแต่ละขั้นตอนได้
3. การทดสอบและประเมินผลเครื่องสีตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกพบว่าในการสีตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกจ้าว 3 พันธุ์ ซึ่งได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ชัยนาท 1 และพันธุ์กข.23 เครื่องต้นแบบให้ผลการตรวจสอบใกล้เคียงกันกับการตรวจสอบด้วยเครื่อง SATAKEทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับระยะห่างระหว่างลูกยางกะเทาะและระยะเวลาการขัดขาวที่เหมาะสมสำหรับข้าวแต่ละพันธุ์ ระยะห่างระหว่างลูกยางกะเทาะที่เหมาะสมสำหรับการกะเทาะข้าวเปลือกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ชัยนาท 1 และพันธุ์กข.23 เท่ากับ 0.75, 0.55 และ 0.50 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมในการขัดขาวข้าวกล้องเท่ากับ 50 วินาที สำหรับทุกพันธุ์ ซึ่งให้ผลการตรวจสอบมีค่าใกล้เคียงกับการตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน