บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบและพัฒนาเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียว

คมสันติ เม่ากลาง

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2545. 103 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

การออกแบบและพัฒนาเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียว  การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบสร้าง และประเมินผลเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียว ซึ่งมีแนวทางการศึกษาที่ประกอบไปด้วยการศึกษาโดยสัมภาษณ์ความต้องการผู้ประกอบการของโรงงานกะเทาะในเขตจังหวัดนครราชสีมาและชลบุรี ศึกษาคุณสมบัติเบื้องต้นของเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เกี่ยวข้องกับการบีบอัด การออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบ และการทดสอบและประเมินผลเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียวต้นแบบ ผลการศึกษามีดังนี้

1. โรงงานกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีความต้องการเครื่องบีบอัดแบบเกลียวอัดมีจำนวน 71 เปอร์เซ็นต์ และแบบไฮดรอลิค 29 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จะต้องบีบอัดได้ต่อเนื่องรวดเร็ว กลไกไม่ซับซ้อน บำรุงรักษาง่าย และราคาไม่แพง

2. เครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียวต้นแบบ ใช้หลักการบีบอัดแบบต่อเนื่องโดยอาศัยเกลียวอัด และส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ชุดลูกกลิ้งป้อนและชุดอุปกรณ์บีบอัดแบบเกลียว

3. การประเมินผลเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบใช้เกลียว

- ชนิดของลูกกลิ้งป้อนและขนาดของรูเจาะรอบกระบอกอัดที่เลือกใช้ควรเป็นลูกกลิ้งป้อนชนิดหยักตามและขวางความยาว และขนาดของรูเจาะรอบกระบอกอัด 2 มิลลิเมตร

-ความเร็วรอบเกลียวอัดควรอยู่ในช่วง 7-13 รอบ/นาที เมื่ออัตราการป้อนเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 54-95 กิโลกรัม/ชั่วโมง

-อัตราการป้อนเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไม่ควรเกิน 95 กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งจะได้ความสามารถในการบีบอัดน้ำมัน CNSL และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน CNSL ที่บีบอัดได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 11.93-14.90 กิโลกรัม/ชั่วโมง และ 20.65-21.04 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนเปอร์เซ็นต์ความสะอาดของน้ำมัน CNSL ที่บีบอัดได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 85.83-87.86 เปอร์เซ็นต์

-อัตราส่วนของน้ำมัน CNSL ที่เหลือในกากจะลดลง เมื่อป้อนเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยอัตราป้อน 95 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยอัตราส่วนดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.18