การสร้างและทดสอบเครื่องรีดกล้วยตาก
ชัยยันต์ จันทร์ศิริ และสุทธิชัย เทพบุดดี
ผลงานวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 29 หน้า.
2544
บทคัดย่อ
การสร้างและทดสอบเครื่องรีดกล้วยตาก
โครงการนี้เป็นการสร้างและทดสอบเครื่องรีดกล้วยตาก ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องได้แก่ 1) ลูกกลิ้งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 76.2 มิลลิเมตร (3 นิ้ว) หนา 6.35 มิลลิเมตร (1/4 นิ้ว) ยาว 30 เซนติเมตร 2 ชุด ทำด้วยท่อพีวีซี ลูกกลิ้งชุดแรกกลึงผิวเรียบให้ลึกลงไป 3 มิลลิเมตรแล้วเสริมแผ่นพีวีซีให้เป็นฟันจำนวน 6 ซี่ เพื่อช่วยในการเพิ่มแรงเสียดทานในการลำเลียงกล้วยตากและลดความหนาลงก่อนที่จะผ่านสู่ลูกกลิ้งชุดที่ 2 ซึ่งกลึงผิวเรียบให้ลึกลงไป 2 มิลลิเมตร ออกแบบให้ปรับระยะห่างได้เพื่อรีดกล้วยด้วยความหนาตามที่ต้องการ 2) ระบบถ่ายทอดกำลังใช้ระบบโซ่และเฟืองเพื่อให้ลูกกลิ้งแต่ละชุดหมุนเข้าหากันด้วยความเร็วรอบเท่ากัน และ 3) ต้นกำลังเป็นมอเตอร์ขนาด 0.19 กิโลวัตต์ ที่ 1450 รอบ/นาที ถ่ายกำลังและทดความเร็วรอบสู่ชุดลูกกลิ้งด้วยสายพานและพูลเล่ย์
การทดสอบรีดกล้วยที่ผ่านการตากอย่างดีแล้วให้ผลสรุปได้ดังนี้
1.ความเร็วรอบที่เหมาะสมในการรีดกล้วยคือ 50 รอบ/นาที ความสามารถในการทำงานสูงสุดในทางทฤษฎีเท่ากับ 300 ลูก/นาที (ที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลูกกลิ้ง 76.2 มิลลิเมตร)
2. คุณภาพกล้วยตากจากการวัดความหนาวัดจากกล้วยตากที่ใช้เครื่องรีดใกล้เคียงกับกล้วยตากที่บรรจุขายตามท้องตลาด