การอบแห้งผลไม้ด้วยเครื่องอบแห้งแบบตู้ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง
สุเมธ รุจินินนาท, สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ และสมเกียรติ ปรัชญาวรากร
วารสารสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย, ปีที่ 9, ฉบับที่ 1, มกราคม-มิถุนายน, หน้า 42-49.
2545
บทคัดย่อ
การอบแห้งผลไม้ด้วยเครื่องอบแห้งแบบตู้ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบ สร้าง และประเมินสมรรถนะเครื่องอบแห้งผลไม้ชนิดตู้โดยใช้ก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่อากาศอบแห้ง เครื่องอบแห้งมีขนาด 0.95x1.43x0.95 ลูกบาศก์เมตร ห้องอบแห้งสามารถบรรจุรถเข็นได้ 2 คัน และสามารถอบแห้งผลไม้ได้ครั้งละ 100-200 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ในการประเมินสมรรถนะของเครื่องอบแห้งได้พิจารณาถึงความสิ้นเปลืองพลังงาน คุณภาพของสีผลิตภัณฑ์หลังการอบแห้ง และลักษณะการกระจายของลมภายในห้องอบแห้ง ความสม่ำเสมอของลมที่ไหลผ่านห้องอบแห้งบ่งบอกโดยการวัดอุณหภูมิและการกระจายความชื้นของผลิตภัณฑ์ภายในห้องอบแห้ง เทคนิคนี้เป็นวิธีการวัดโดยทางอ้อม จากผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า การติดตั้งใบปรับทิศทางลมสามารถลดความแตกต่างของความชื้นผ้าฝ้ายในแต่ละรถเข็นอย่างเห็นได้ชัด ในการทดลองอบแห้งกล้วยน้ำว้าและเงาะที่ 60 °ซ. อัตราการไหลของอากาศ 0.6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และสัดส่วนอากาศหมุนเวียนกลับ 81.6 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ในการอบแห้งกล้วยจากความชื้น 342 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้งเหลือความชื้นสุดท้าย 52.6 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง ให้ความสิ้นเปลืองพลังงานปฐมภูมิจำเพาะเท่ากับ 51.6 เมกะจูลต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหย สำหรับในการอบแห้งเงาะให้ความสิ้นเปลืองพลังงานปฐมภูมิจำเพาะเท่ากับ 9.12 เมกะจูลต่อกิโลกรัมที่น้ำระเหย โดยลดความชื้นจาก 636 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้งเหลือความชื้น 45 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง คุณภาพในด้านสีของผลไม้หลังการอบแห้งอยู่ในเกณฑ์ดี จากการประเมินค่าใช้จ่ายในการอบแห้งผลไม้ พบว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีค่าระหว่าง 4.38- 5.27 บาทต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหย โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องอบแห้งมีค่าระหว่าง 1.67-2.48 บาท ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าและก๊าซแอลพีจีมีค่าระหว่าง 2.43-2.47 บาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องมีค่าระหว่าง 0.24-0.35 บาท