บทคัดย่องานวิจัย

WTO กับการใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อคุ้มครองทรัพยากรร่วมของโลก : ศึกษากรณีสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้งจากประเทศไทย

จิราวัลย์ คชฤทธิ์

วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย. 271 หน้า.

2542

บทคัดย่อ

WTO กับการใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อคุ้มครองทรัพยากรร่วมของโลก : ศึกษากรณีสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้งจากประเทศไทย   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทราบว่ามาตรการฝ่ายเดียวทางการค้าเพื่อคุ้มครองทรัพยากรร่วมของโลกนั้นไม่สามารถกระทำได้ภายใต้กฎการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก ในการศึกษาวิจัยผู้เขียนจะแสดงให้เห็นหลักการค้าเสรีที่สำคัญๆ ขององค์การการค้าโลกตามมาตรา I III XI ข้อยกเว้นเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา XX (b) และ (g) กรณีพิพาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาข้อยกเว้นดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์คำตัดสินภายใต้ข้อตกลงแกตต์และองค์การการค้าโลกซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงขอบเขตและเงื่อนไขของการนำเอาข้อยกเว้นตามมาตรา XX (b) และ (g) มาใช้บังคับซึ่งได้มีการตีความพัฒนาเรื่อยมาเป็นลำดับ นอกจากนี้ได้แสดงให้เห็นแนวทางในการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีลักษณะเป็นทรัพยากรร่วมของโลกของประชาคมโลกตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ และสุดท้าย ได้มีการวิเคราะห์ถึงคำตัดสินของกรณีพิพาทเรื่อง United States-Import Prohibition of certain Shrimp and Shrimp Products ทั้งของคณะกรรมาการวินิจฉัยข้อพิพาทและขององค์กรอุทธรณ์ ผลของการวิจัยพบว่าองค์กรอุทธรณ์ในคดีนี้ได้พิจารณาและตัดสินว่าการใช้มาตรการทางการค้าในลักษณะห้ามนำสินค้าโดยอ้างข้อยกเว้นตามมาตรา XX (g) นั้นไม่สามารถกระทำได้หากมิได้มีการคำนึงถึงมาตรการในการคุ้มครองและอนุรักษ์ที่ประเทศนั้นได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งตามคำตัดสินได้มีการตีความและเงื่อนไขของมาตรา XX (g) กว้างออกไปกว่ากรณีพิพาทที่ผ่านมาในอดีตหลายประการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อนโยบายทางการด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัวและเร่งพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าที่เป็นมา