ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
จรัญชัย ก่อศรีพิทักษ์กุล
ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539. 76 หน้า.
2539
บทคัดย่อ
ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยการผลิต การตลาดและการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย รวมทั้งปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การส่งออกของกุ้งแช่แข็งของไทยในตลาดประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยทำการวิเคราะห์การถดถอยเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรในสมการถดถอยหนุคูณ (Multiple regression) กำหนดให้อุปสงค์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยขึ้นอยู่กับราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย ปรับด้วยราคาส่งออกของประเทศคู่แข่ง โดยคู่แข่งการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปที่ญี่ปุ่น คือ จีน อินโดนีเชียและอินเดีย ส่วนคู่แข่งในตลาดสหรัฐอเมริกา คือ เอกวาดอร์ จีน อินเดีย และขึ้นอยู่กับรายได้ของประชาชาติของประเทศคู่ค้า โดยใช้ข้อมูลอนุกรมเวลารายปีตั้งแต่ปี 2521-2537 ผลการศึกษาปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปตลาดญี่ปุ่น ปรากฏว่า ราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยปรับด้วยราคาส่งออกของประเทศคู่แข่งทางการค้า รายได้ประชาชาติของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่นถึงร้อยละ 96 จากการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติของค่าสัมประสิทธิ์ตัวแปร พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย และรายได้ของประชาชาติญี่ปุ่น มีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยค่าความยืดหยุ่นของราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย และรายได้ประชาชาติญี่ปุ่นมีค่าเท่ากับ 1.0354 และ 1.8268 ตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า ราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยปรับด้วยราคาส่งออกของประเทศคู่แข่งทางการค้า รายได้ประชาชาติของสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 98 จากการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติของค่าสัมประสิทธิ์ตัวแปรพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยและค่าสัมประสิทธิ์ของรายได้ของประชาชาติของสหรัฐอเมริกามีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 โดยค่าความยืดหยุ่นของราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยและรายได้ประชาชาติของสหรัฐอเมริกามีค่าเท่ากับ 1.8715 และ 4.1163 ตามลำดับ จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาของอุปสงค์การส่งออกค่อนข้างสูง ดังนั้น หากไทยสามารถปรับลดต้นทุนการผลิตในเรื่องค่าจ้างแรงงานและค่าอาหารสัตว์ย่อมจะส่งผลให้ราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยลดลงและส่งออกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันค่าความยืดหยุ่นด้านราคาของสหรัฐอเมริกามีค่ามากกว่าค่าความยืดหยุ่นด้านราคาของญี่ปุ่น หากราคาส่งออกไม่มีเสถียรภาพควรยืดการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา