บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเรื่องการส่งออกกุ้งของประเทศไทย

ประพัฒสร เสมาพัฒน์

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เศรษฐศาสตร์ (สาขาเศรษฐศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, กรุงเทพฯ. 2537. 120 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องการส่งออกกุ้งของประเทศไทย   กุ้งสดแช่แข็งเป็นสินค้าสัตว์น้ำส่งออกซึ่งทำรายได้เป็นอันดับสองรองลงมาจากอาหารทะเลกระป๋อง แต่ในปัจจุบันมูลค่าส่งออกมีแนวโน้มลดลง และส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกของปริมาณส่งออกของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกันเนื่องมาจากกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยประสบปัญหาการแข่งขันในด้านราคาส่งออกจากประเทศคู่แข่งขัน วัตถุประสงค์ในการศึกษาเรื่องนี้ 1) เพื่อศึกษาภาวะทั่วไปของการผลิตและการตลาดส่งออกกุ้งของประเทศไทย 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์การส่งออกกุ้งของประเทศไทยในตลาดต่างประเทศ 3) เพื่อเสนอแนวทางการขยายการส่งออกกุ้งของประเทศไทยในอนาคต วิธีการศึกษาในแบบจำลองเศรษฐมิติมาใช้ในการวิเคราะห์อุปสงค์กุ้งสดแช่แข็งโดยวิธีวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาภาวะทั่วไปของการผลิตและการตลาดส่งออกกุ้งของประเทศไทยพบว่า ปริมาณการผลิตกุ้งภายในประเทศสามารถจับกุ้งจากทะเลและกุ้งน้ำจืดได้ในอัตราส่วนเพิ่มในแต่ละปี ร้อยละ 2.62 และปริมาณการผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ของการผลิตทั้งหมด ส่วนตลาดภายในประเทศมีความต้องการกุ้งร้อยละ 52 ของปริมาณการผลิตและตลาดต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการกุ้งในการนำเข้าร้อยละ 46.3 และประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการกุ้งในการนำเข้า ร้อยละ 25.6 ของปริมาณการส่งออกกุ้งของประเทศไทย ผลการศึกษาอุปสงค์การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่า อุปสงค์การส่งออกกุ้งขึ้นอยู่กับรายได้ประชาชาติและจำนวนประชากรของประเทศญี่ปุ่น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์อุปสงค์การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทย อันเนื่องมาจากรายได้ประชาชาติและจำนวนประชากรในประเทศญี่ปุ่น มีค่าเท่ากับ 10.3432 และ 74.5247 ผลการศึกษาอุปสงค์การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับรายได้ประชาชาติ และจำนวนประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีค่าสัมประสิทธิ์อุปสงค์การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทย อันเนื่องมาจากรายได้ประชาชาติ และจำนวนประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าเท่ากับ 12.3952 และ 71.6542 ผลจากการศึกษาดังกล่าวสามารถเสนอแนวทางการขยายการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประเทศควรใช้นโยบายพัฒนาคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และวิธีการจัดจำหน่าย ตลอดจนรูปแบบการส่งออก