การผลิตและการจำหน่ายสุกรขุนของผู้ผลิตสุกรขุน : เขต 1
นนทลี บุญทัด
วิทยานิพนธ์ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง. บัณฑิตวิทยาลัย. 2541. 157 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
การผลิตและการจำหน่ายสุกรขุนของผู้ผลิตสุกรขุน : เขต 1
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวการณ์ผลิต การจำหน่าย แนวโน้มในอนาคตของฟาร์มสุกร ปัจจัย ปัญหา อุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการผลิต และการจำหน่ายสุกรขุน และแนวโน้มความต้องการบริโภคสุกร ข้อมูลได้รับการสัมภาษณ์ โดยใช้แบบสอบถาม และการสังเกตจากฟาร์มสุกร 124 หน่วยตัวอย่าง แต่เก็บข้อมูลได้จริง 123 หน่วยตัวอย่าง ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบโควตา สรุปได้ดังนี้ เจ้าของฟาร์มสุกรส่วนมากเป็นเพศชาย อายุ 41-50 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา รายได้ต่อเดือน (ก่อนหักรายจ่าย) มากกว่า 1,500,000 บาท และไม่ประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเลี้ยงสุกร เนื้อที่ของฟาร์มสุกรประมาณ 10-20 ไร่ โรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องใช้ในฟาร์มสุกรมีมูลค่าน้อยกว่า 5 ล้านบาท จำนวนคนงานในฟาร์มแต่ละฟาร์มมีน้อยกว่า 5 คน ประเภทของฟาร์มสุกร เป็นฟาร์มสุกรเพื่อการค้า มีฟาร์มสุกรเป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกชมรมฯ จำนวนใกล้เคียงกัน โดยฟาร์มสุกรที่เป็นสมาชิกชมรมฯ ส่วนมากเป็นสมาชิกชมรมสุกรภาคกลาง และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุกรในแฟ้มประวัติ แม่พันธุ์สุกรมีจำนวน 100-200 ตัว ซึ่งถือเป็นฟาร์มขนาดเล็ก สุกรขุนมีจำนวน 1,0001-5,000 ตัวต่อปี พันธุ์สุกรที่ใช้เป็นพันธุ์สุกรจากเดนมาร์ก และพันธุ์ที่เหมาะสมในการเลี้ยงมากที่สุด โดยฟาร์มสุกรทำการผลิตลูกสุกรเอง ปริมาณการผลิตสุกรขุนออกจำหน่ายน้อยกว่า 10 ตัวต่อวัน ส่วนปริมาณความต้องการซื้อมีประมาณ 10-20 ตัวต่อวัน คุณสมบัติของสุกรขุนที่ผลิตได้คือ เนื้อแดงมาก ไขมันน้อย น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม มีการใช้สารเลนดอน หรือสารเร่งเนื้อแดง และมีการอดอาหารสุกร 12 ชั่วโมงก่อนจำหน่าย การเลี้ยงสุกร ฟาร์มสุกรส่วนมากใช้แรงงานคนให้อาหารด้วยอาหารที่ผสมเอง การผสมพันธุ์สุกรใช้วิธีการผสมพันธุ์จริง การจัดการฟาร์มสุกรส่วนมากมีการควบคุม ป้องกัน ฆ่าเชื้อโรค และมีระบบกำจัดของเสีย ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการผลิตสุกรขุน คือ ต้นทุนการผลิต แรงงาน พันธุ์สุกร และวัฎจักรการผลิต ปัญหาและอุปสรรคต่อการผลิตสุกรขุน คือ แหล่งเงินทุน ต้นทุนการผลิต อาหารสัตว์ แรงงาน และวัฎจักรการผลิต การขยายกิจการ เจ้าของฟาร์มสุกรส่วนมากไม่คิดขยายกิจการ เพราะไม่มีเงินทุน และมีเพียงส่วนน้อยที่คิดขยายกิจการด้วยการเพิ่มจำนวนแม่พันธุ์สุกรและสุกรขุน ลูกค้าของฟาร์มสุกรมีจำนวน 1-3 ราย ส่วนมากอยู่ในเขตจังหวัดที่ฟาร์มสุกรตั้งอยู่ ราคาจำหน่ายในช่วง พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2541 ราคาสูงสุดคือ 45 บาท ราคาต่ำสุดคือ 17 บาท วิธีการกำหนดราคา ฟาร์มสุกรกำหนดราคาโดย อันดับ 1 กำหนดตามราคาของฟาร์มสุกรอื่นๆ ในเขตจังหวัดเดียวกัน อันดับ 2 กำหนดตามคุณภาพของสุกร อันดับ 3 กำหนดตามความสอดคล้องของปริมาณการผลิต และความต้องการในท้องตลาด ส่วนวิธีการกำหนดราคาที่เหมาะสม ควรจะกำหนดราคาโดย อันดับ 1 กำหนดตามต้นทุนการผลิต อันดับ 2 กำหนดตามคุณภาพของสุกร อันดับ 3 กำหนดตามความสอดคล้องของปริมาณการผลิต และความต้องการในท้องตลาด โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาทุกวันพระ การคัดสุกรออกจำหน่ายในราคาถูก ส่วนมากมีสาเหตุจากสุกรแคระแกรนเลี้ยงไม่โต และสุกรป่วยเป็นโรค โดยโรคที่พบมาก คือ โรคไมโครพลาษมา โรคฮีโมฟีรัส และโรคพิษสุนัขบ้าเทียม ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการจำหน่ายสุกรคือ อันดับ 1 ราคาสุกร อันดับ 2 ช่องทางการจำหน่าย อันดับ 3 แหล่งเงินทุน ปัญหาและอุปสรรคต่อการจำน่ายสุกรขุน คือ อันดับ 1 ราคาสุกร อันดับ 2 การแข่งขันของฟาร์มสุกร อันดับ 3 แหล่งเงินทุน อันดับ 4 ฤดูกาล แนวโน้มด้านการผลิตและจำหน่ายสุกรขุนในอนาคต คือ คุณภาพของสุกรจะมีมาตรฐานมากขึ้น ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น และราคาสุกรจะมีเสถียรภาพมากขึ้น