ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปตลาดญี่ปุ่นและเยอรมัน
ชลเชษฐ์ พฤฒิธรรมกูล
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. เศรษฐศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. 2539. 136 หน้า.
2539
บทคัดย่อ
ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปตลาดญี่ปุ่นและเยอรมัน
เนื้อไก่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีไขมันต่ำ และมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป โดยไม่ขัดต่อศาสนาใดๆ เนื้อไก่นอกจากจะเป็นอาหารที่ได้ประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นสินค้าส่งออกที่ทำเงินตราเข้าประเทศเป็นอย่างมาก พิจารณาจากมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่แข็งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า กล่าวคือในปี 2524 ประเทศไทยการส่งออกไก่สดแช่แข็งในปริมาณ 26,769 ตัน มูลค่า 1,187 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 174,829 ตัน มูลค่า 10,400 ล้านบาท ในปี 2535 อย่างไรก็ตามสัดส่วนการส่งออกของไทยได้เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2536 เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศได้ โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่สำคัญทางด้านการผลิตและการตลาด กล่าวคือ ทางด้านการผลิต ต้นทุนการผลิตไก่สดแช่แข็งของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะจีน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ถูกกว่าของไทย รวมทั้งการที่รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนการส่งออก โดยการยกเลิกภาษีให้กับอุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็ง ซึ่งจะเห็นได้จากต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของจีนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15.19 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของไทยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25.03 บาท ทำให้ไทยต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดญี่ปุ่น (Market Share) ส่วนใหญ่ให้กับจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทางด้านการตลาดญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกร้อยละ 10 แต่จัดเก็บภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็ง ประเภทถอดกระดูกร้อยละ 12 ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งออกไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดู แต่เสียภาษีนำเข้าถูกกว่าไทย ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยในตลาดญี่ปุ่นและเยอรมันในระหว่างปี 2520-2536 โดยตัวแปรอิสระที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ของตลาดญี่ปุ่นคือ ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น ปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศสหรัฐอเมริกาไปประเทศญี่ปุ่นปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศสหรัฐอเมริกาไปประเทศญี่ปุ่นปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร ชายญี่ปุ่นปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น อัตราภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศญี่ปุ่นและอัตราภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น สำหรับตลาดเยอรมนีตัวแปรอิสระที่นำมาใช้วิเคราะห์คือ ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็ง ประเภทถอดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนีปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเยอรมนี ราคาส่งออก F.O.B. กุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนี ปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเยอรมนี และรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรชาวเยอรมนีปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเยอรมนี โดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ สร้างสมการในรูปของสมการถดถอยเชิงซ้อน และใช้วิธีกำลังสองน้อยที่สุดมาทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรในแต่ละตัว ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทย โดยอาศัยข้อมูลทุติยภูมิแบบอนุกรมเวลาที่รวบรวมจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2520-2536 ผลการศึกษาพบว่า กรณีตลาดญี่ปุ่น ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น ได้แก อัตราภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น รองลงมา ได้แก่ ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศสหรัฐอเมริกาไปประเทศญี่ปุ่น โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวเท่ากับ -3.1403 และ 2.0328 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทติดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น และรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรชาวญี่ปุ่นอาจกล่าวได้ว่ามีผลกระทบน้อยมาก โดยมีค่าความยืดหยุ่นเท่ากับ -0.3374 และ 0.2588ตามลำดับ สำหรับผลการพยากรณ์ปรากฏว่าในช่วงปี 2537-2541 คาดว่า อุปสงค์การส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น จะมีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 59.06 ตัน สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศสหรัฐอเมริกาไปประเทศญี่ปุ่นและราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวเท่ากับ 2.8353 และ -2.6177 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบรองลงมาได้แก่ อัตราภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น และรายได้ของประชาชาติต่อหัวของประชากรชาวญี่ปุ่น โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวเท่ากับ -0.5877 และ 0.3041 ตามลำดับ สำหรับผลการพยากรณ์ปรากฏว่าในช่วงปี 2537-2541 คาดว่าอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกของประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นจะมีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 249,286.0 ตัน ผลการศึกษาพบว่า กรณีตลาดเยอรมนี ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนี ได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรชาวเยอรมนีและราคาส่งออก F.O.B. ไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนี โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวเท่ากับ 3.1096 และ -1.0023 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยราคาส่งออก F.O.B. กุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนี อาจกล่าวได้ว่ามีผลกระทบน้อยมาก โดยมีค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยดังกล่าวเท่ากับ 0.3014 สำหรับผลการพยากรณ์ ปรากฏว่าในช่วงปี 2537-2541คาดว่าอุปสงค์การส่งออกไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยไปประเทศเยอรมนีจะมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ ประมาณ 95,824.80 ตัน จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศไทยจะขยายการส่งออก และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดไก่สดแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญในแง่ของการแข่งขันทางด้านราคาให้มากที่สุด โดยพยายามลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ราคาส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยถูกลง รองลงมาได้แก่ การเจรจาขอลดอัตราภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูกให้เท่ากับอัตราภาษีการนำเข้าประเภทติดกระดูก เพราะการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยส่วนใหญ่ส่งออกไก่สดแช่แข็งประเภทถอดกระดูก สำหรับกรณีตลาดประเทศเยอรมนี ควรใช้นโยบายด้านราคา โดยที่ถ้าไทยสามารถลดสัดส่วนของราคาส่งออกลงได้จะทำให้ไก่สดแช่แข็งของไทยมีความต้องการส่งออกมากขึ้น