บทคัดย่องานวิจัย

การติดตามตรวจสอบสารออร์แกโนคลอรีนตกค้างในไข่ไก่ ในเขตชานเมืองเชียงใหม่

เฮวียน ธิ วาน ฮา

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การประเมินความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศเขตร้อน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 88 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การติดตามตรวจสอบสารออร์แกโนคลอรีนตกค้างในไข่ไก่ ในเขตชานเมืองเชียงใหม่  สารออร์แกโนคลอรีนตกค้างในห่วงโซ่อาหารและในสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในบรรดาความห่วงใยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในการติดตามตรวจสอบสารตกค้างเหล่านี้ สามารถที่จะใช้ไข่ของสัตว์ประเภทเป็ดไก่เป็นพารามิเตอร์ทางชีวภาพได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษานี้จึงได้ดำเนินการขึ้นเพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสารออร์แกโนคลอรีนในไข่จากไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ในเขตชานเมืองของจังหวังเชียงใหม่ และเพื่อที่จะหาแนวทางการใช้ไข่เป็นพารามิเตอร์ทางชีวภาพสำหรับโครงการติดตามตรวจสอบทางชีวภาพของสารออร์แกโนคลอรีนตกค้างในการวิเคราะห์ออร์แกโนคลอรีนนี้ได้ใช้วิธี 608 ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟีที่มีคอลัมน์แบบแคพิลลารี และหน่วยตรวจวัดสัญญาณเป็นแบบอิเล็กตรอนแคพเจอร์ การศึกษานี้ได้พบว่าในจำนวนไข่ 64 ฟอง ที่ได้เก็บตัวอย่างจากการสุ่มจากไก่จากหมู่บ้านทั้งหมด 29 หมู่บ้านในท้องที่สี่อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ คือ แม่ริม หางดง เมือง และสันกำแพง ตรวจพบสารตกค้างของยาฆ่าแมลงชนิด ออร์แกโนคลอรีน แปด ชนิดตามลำดับความถี่ดังนี้ พารา,พารา-ดีดีอี (100% จากตัวอย่างไข่ทั้งหมด), พารา,พารา-ดีดีที (94%), พารา,พารา-ดีดีที และออร์โธ, พารา-ดีดีดี (88%), ออร์โธ, พารา-ดีดีดี (19%) สำหรับเฮพทาคลอร์, เอชซีบี, แอลฟา-บีเอชซี, เบตา-บีเอชซี, ลินเดน, แอลฟา-เอนโดซัลแฟน, เบตา-เอนโดซัลแฟน, เอนโดซัลแฟนซัลเฟต และเอนดริน ตรวจไม่พบสารตกค้าง ค่าระดับเฉลี่ยของสารตกค้างดิลดริน (0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และของซิส-เฮพทาคลอร์ (<0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ต่ำกว่าค่าขีดสูงสุดของสารปนเปื้อนที่ยอมให้มีได้ (อีอาร์แอล) ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเป็นอันมาก ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยของดีดีทีทั้งหมด (1.60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สูงกว่าขีดสูงสุดของสารตกค้างที่จะพึงมีได้ตามเกณฑ์ของไทย (เอมอาร์แอล 1.5 มิลลิกรัมของดีดีทีทั้งหมด/กิโลกรัม) ซึ่งสูงกว่าค่าอีอาร์แอลขององค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่า ร้อยละ 40 ของไข่ที่สำรวจ มีความเข้มข้นของดีดีทีทั้งหมดสูงกว่าค่าอีอาร์แอล สำหรับไข่จากอำเภอแม่ริมและอำเภอหางดงพบว่ามีการปนเปื้อนของดีดีทีมากกว่าไข่จากอำเภอเมืองและอำเภอสันกำแพง ระดับสารดีดีทีทั้งหมดที่ตกค้างพบว่าในไข่จากท้องที่ภูเขาและการเกษตรกรรมมีปริมาณมาก เมื่อเปรียบเทียบกับไข่จากเขตที่อยู่อาศัยของชุมชนและเขตอุตสาหกรรม-หัตถกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ดีดีทีเพื่อการเกษตรกรรม และการรณรงค์เพื่อควบคุมโรคมาเลเรียในท้องที่ที่ได้สำรวจมาอัตราส่วนของ พารา,พารา-ดีดีที ต่อ พารา, พารา-ดีดีอี ในพื้นที่ที่มีการพ่นดีดีทีสูงกว่า อัตราส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีการใช้ดีดีทีอีกแล้ว ปริมาณสารดีดีทีตกค้างที่สูงกว่าระดับที่ได้เคยมีรายงานในประเทศอื่น บ่งชี้ว่าการใช้ดีดีทีในเขตชานเมืองเชียงใหม่ควรจะมีการพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังต่อไป นอกจากนี้ ผลการศึกษาไข่จากไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ สามารถที่จะนับว่าเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้ และอัตราส่วนของ พารา, พารา-ดีดีที ต่อ พารา, พารา-ดีดีอี ก็สามารถที่จะเป็นดัชนีชีวภาพที่เอาไปใช้ในโครงการติดตาม ตรวจสอบชีวภาพระยะยาวของสารออร์แกโนคลอรีนตกค้างในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของไก่ได้ ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการสะสมทางชีวภาพของสารออร์แกโนคลอรีนในไข่ไก่อาจจะเป็นระยะเวลาและความเข้มข้นที่ไก่ได้สัมผัสกับออร์แกโนคลอรีน และสายพันธุ์ของไก่เอง อย่างไรก็ดี แนวทางที่เสนอไว้ในการศึกษานี้น่าที่จะได้มีผู้นำไปทำซ้ำในบริเวณสำรวจที่กว้างขวางขึ้น และใช้ไข่ไก่ตัวอย่างจำนวนมากขึ้น