การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทย พ.ศ. 2520-2534
เศรษฐพร ศรีติพันธ์
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. เศรษฐศาสตร์ (สาขาเศรษฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย, กรุงเทพฯ. 2536. 104 หน้า.
2536
บทคัดย่อ
การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทย พ.ศ. 2520-2534
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทย พ.ศ. 2520-2534 เกิดจากการที่ผู้วิจัยได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งมักเกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจสุกรคือ ราคาสุกรมีชีวิตมีความผกผันสูงมาก จึงมีผลกระทบต่อทั้งผู้เลี่ยงและผู้บริโภค โดยที่ปริมาณการผลิต สุกรและระดับราคาสุกรมีชีวิตจะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปวัฏจักร เรียกว่า วัฎจักรสุกร การกำหนดวัฏจักรสุกรแต่ละช่วงใช้ Hod feed ratio เป็นหลักในการพิจารณาโดยเฉลี่ยแล้วพบว่าวัฏจักรที่เกิดขึ้นมีช่วงระยะประมาณ 31 เดือน การวิเคราะห์ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้พบว่า ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ในประเทศไทยขึ้นกับปริมาณ การผลิตสุกรในประเทศไทยและราคาขายส่งสุกรมีชีวิต ณ ตลาด กรุงเทพฯ ค่าความยืดหยุ่นสะท้อนของราคาสุกรมีชีวิต ที่เกษตรกรขายได้ในประเทศไทยอันเนื่องจากราคาสุกรมีชีวิต ณ ตลาดกรุงเทพฯ มีค่า 1.13 แสดงว่าระบบข่าวสาร ด้านราคาของตลาดสุกรมีชีวิตในประเทศมีประสิทธิภาพสูงและหากปริมาณการผลิตสุกรในประเทศเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 1 พันตัว จะทำให้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ในในประเทศไทยลดลง (หรือเพิ่มขึ้น) 0.00028 บาทต่อกิโลกรัม ผลการศึกษาปริมาณการผลิตสุกรในประเทศไทยพบว่า ปริมาณการผลิตสุกรในประเทศไทยขึ้นกับ ราคาสุกรมีชีวิตที่ เกษตรกรขายได้ปีที่ผ่านมา และจำนวนแม่พันธุ์สุกร โดยที่ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 1 บาทต่อกิโลกรัมจะทำให้ปริมาณการผลิตสุกรในประเทศไทยเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 397.49 พันตัว จำนวนแม่พันธุ์สุกรเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 1 พันตัวจะทำให้ปริมาณการผลิตสุกรในประเทศไทยเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 7.08 พันตัว ในการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะดังนี้คือ รัฐบาลควรวางแผนส่งเสริมการผลิตสุกรขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ซึ่งรวมถึงทั้งส่งเสริมการส่งออก และส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร