บทคัดย่องานวิจัย

ผลของรังสีแกมมาที่มีต่อผลอายุการเก็บและคุณภาพของกุ้งแช่แข็ง (Penaeus merquiensis)

โกวิทย์ นุชประมูล สำราญ ทรงประเสริฐ์ชัย และ เสาวพงศ์ พึ่งศิลป

รายงานวิชาการ กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, ธันวาคม 2526.

2526

บทคัดย่อ

ผลของรังสีแกมมาที่มีต่อผลอายุการเก็บและคุณภาพของกุ้งแช่แข็ง การศึกษาผลของรังสีแกมม่าปริมาณต่ำที่มีต่ออายุการเก็บและคุณภาพของกุ้งแช่แข็ง ทำได้โดย นำกุ้งชนิดปอกเปลือกและชนิดเด็ดหัวไปแช่แข็ง และฉายรังสีที่ 2 และ 4 กิโลเกรย์ แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ –18°ซ เป็นเวลา 7 เดือน ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทุกเดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด ปริมาณไตรเมททิลอามินไนโตรเจน ปริมาณด่างระเหยทั้งหมด ความเป็นกรด-ด่าง และการเหม็นหืน ควบคู่กันกับการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส

กุ้งแช่แข็งฉายรังสีและไม่ฉายรังสี ทั้งชนิดเด็ดหัวและชนิดปอกเปลือก สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 7 เดือน โดยที่ยังมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเก็บกุ้งแช่แข็งฉายรังสีนานเกินกว่า 4 เดือน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี การฉายรังสีกุ้งแช่แข็งด้วยปริมาณ 2 และ 4 กิโลเกรย์ จะช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดลงได้ 2-3 log cyclesนอกจากนั้น ยังทำให้กุ้งแช่แข็งฉายรังสีปราศจากเชื้อจุลินทรีย์พวก fecal coliform และ Escherichia coli อีกด้วย ค่าการเปลี่ยนแปลงด้านเคมี ฟิสิกส์ และจุลชีววิทยาของกุ้งแช่แข็งในระหว่างการเก็บรักษามีน้อยและไม่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นดัชนีบอกคุณภาพที่ดีได้ รังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ เพียงพอที่จะใช้สำหรับการฉายรังสีกุ้งแช่แข็ง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและปรับปรุงคุณภาพ