บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของประเทศไทยในตลาดที่สำคัญ

ภาวดี ไวยราบุตร

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543. 133 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของประเทศไทยในตลาดที่สำคัญ

วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในครั้งนี้ คือ วิเคราะห์การขยายตัวของการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของประเทศไทยไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยใช้แบบจำลองส่วนแบ่งตลาดคงที่ (Constant Market Share Model : CMS) เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในตลาดส่งออกที่สำคัญคือ เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย

การวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดของกุ้งสดแช่เย็นแช่เข็ง โดยใช้แบบจำลองส่วนแบ่งตลาดคงที่ (CMS) จะทำการวิเคราะห์ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงปี 2530-2537 และช่วงปี 2538-2541 โดยใช้ช่วงปี 2525-2529 เป็นปีฐานและทำการศึกษา 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในตลาดส่งออกที่สำคัญ ผลที่ได้คือ ในช่วงปี 2530-2537 พบว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทย เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 503.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจาก การขยายตัวของการส่งออกของโลก มากที่สุด รองลงมาคือ การแข่งขันการส่งเสริมการส่งออก และการกระจายตลาด โดยมีค่าเท่ากับ 368.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, 108.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ. 57.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ –30.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในขณะที่ช่วงปี 2538-2541 พบว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทย เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 814.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกของโลก มากที่สุด รองลงมาคือ การส่งเสริมการส่งออก การแข่งขัน และการกระจายตลาดโดยมีค่าเท่ากับ 584.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, 173.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, 129.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ –73.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนที่สอง เป็นการวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในตลาดส่งออกที่สำคัญเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย) ผลที่ได้ ในช่วงปี 2530-2537 พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เปลี่ยนแปลงเพิ่มมากที่สุด คือ ไทย รองลงมา อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และอินเดีย โดยมีค่าเท่ากับ 503.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, 337.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, 261.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 141.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยทั้ง 4 (ผลจากการขยายตัวของการส่งออกของโลก ผลจากการกระจายตลาด ผลจากการแข่งขัน และผลจากการส่งเสริมการส่งออก) ระหว่างไทยกับคู่แข่ง พบว่าไทยได้เปรียบคู่แข่ง 2 ปัจจัย คือ การขยายตังของการส่งออกของโลก และการแข่งขัน แต่เสียเปรียบคู่แข่งขัน 2 ปัจจัย คือ การกระจายตลาดให้กับอินเดีย และอินโดนีเซีย และการส่งเสริมการส่งออก ให้กับเอกวาดอร์ และในช่วงปี 2538-2541 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เปลี่ยนแปลงเพิ่มมากที่สุดคือ ไทย รองลงมา อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และอินเดีย โดยมีค่าเท่ากับ 814.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , 585.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , 558.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 435.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยทั้ง 4 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระหว่างไทยกับคู่แข่ง พบว่า ไทยได้เปรียบคู่แข่งเพียงปัจจัยของการขยายตัวของการส่งออกของโลก แต่เสียเปรียบคู่แข่ง 3 ปัจจัย คือ การกระจายตลาด การแข่งขัน และการส่งเสริมการส่งออก ให้กับเอกวาดอร์