การวิเคราะห์เสถียรภาพของตลาดส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทยโดยวิธีหาค่าความแปรปรวนในรูปล๊อคการิทึ่ม
ธิดารัตน์ ปิ่นสุวรรณ
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534. 117 หน้า.
2534
บทคัดย่อ
กุ้งสดแช่แข็ง เป็นสินค้าสัตว์น้ำส่งออกประเภทหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและเร่งรัดการส่งออกจากรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำเงินตราเข้าสูประเทศได้เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาสินค้าประมงส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตามการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งแต่ละปีมักมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่เสมออันเป็นผลกระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตและผู้ส่งออก การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์สามประการคือ ประการแรก เพื่อศึกษาโครงสร้างตลาดส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของประเทศไทย โดยการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาด ประการที่สอง วิเคราะห์ดัชนีความไม่มีเสถียรภาพของสินค้าส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของไทย และประการสุดท้าย เสนอแนะนโยบายในการปรับปรุงมาตรการในการส่งเสริมสินค้าออกประเภทนี้ของไทย
สำหรับวิธีการศึกษา แบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนแรก วิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดของประเทศไทยในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ตามวิธีของโอชส์เนอร์และเครมเมอร์ ในส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ค่าดัชนีความไม่มีเสถียรภาพของปริมาณ ราคา และรายได้ในตลาดส่งออกที่สำคัญเก้าประเทศคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเยอรมันตะวันตก ตามวิธีการของโจเซฟ ดี คอพพอล
ผลจากการวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดของประเทศไทยในตลาดญี่ปุ่น ในระหว่างช่วงปี 2519-2524 เปรียบเทียบกับระหว่างปี 2525-2530 พบว่าส่วนแบ่งตลาดในประเทศนี้ลดลงจากร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 5.1 โดยเป็นผลจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการแข่งขันถึงร้อยละ 50.2 ในขณะที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการขยายของตลาดนี้เพียงร้อยละ 49.8 และส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่แข็งของไทยในสหรัฐอเมริกาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 4.8 อันเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดร้อยละ 53.7 และจากการขยายขนาดของตลาดอีกร้อยละ 46.3
ส่วนผลการวิเคราะห์ดัชนีความไม่มีเสถียรภาพจากการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของไทยไปยังตลาดที่สำคัญจำนวนเก้าประเทศนั้น พบว่าการขาดเสถียรภาพของรายได้จากการส่งออก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์โดยอุปทานมีความยืดหยุ่นสูงกว่าและคงที่ มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่การขาดเสถียรภาพของรายได้มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปทาน คือ ประเทศสิงคโปร์และอิตาลี และพบว่าอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณจะมีผลกระทบต่อรายได้มากกว่าอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคา
ผลจากการศึกษาดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอแนะห้าประการคือ 1) เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ผู้ส่งออกต้องรักษาคุณภาพของสินค้าส่งออกให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศผู้นำเข้ากำหนดไว้ 2) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรายได้จากการส่งออกกุ้งสดแช่แข็ง ควรใช้มาตรการที่ช่วยให้อุปสงค์มีความสม่ำเสมอมากขึ้น 3) โดยที่ปัจจัยซึ่งมีส่วนกำหนดอุปสงค์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งหรือการขยายตลาดกุ้งสดแช่แข็งให้กว้างขึ้น รวมทั้งการเจรจาซื้อขายสินค้าล่วงหน้าอาจช่วยลดความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ลงได้ 4) ในบางตลาดที่สาเหตุของการขาดเสถียรภาพเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทาน ควรใช้มาตรการที่ทำให้อุปทานของการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งมีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น และ 5) ควรศึกษาลักษณะของการขาดเสถียรภาพโดยแยกย่อยเป็นประเภท ขนาด และเกรดของสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการให้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น