การวิเคราะห์ระบบการตลาดหอยนางลมในประเทศไทย ปี 2526
วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2528. 141 หน้า
2528
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษาระบบการตลาดหอยนางรมก็เพื่อให้ทราบถึงวิถีการตลาด โครงสร้าง พฤติกรรม และผลการดำเนินงานตลาดของหอยนางรมเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการตลาดหอยนางรม และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มผลผลิตหอยนางรม
การศึกษาเรื่องนี้ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนามาอธิบายวิถีการตลาด โครงสร้างการตลาด และพฤติกรรมการตลาดหอยนางรม ส่วนผลการดำเนินงานตลาดใช้วิธีวิเคราะห์ความแตกต่างกันของราคาหอยนางรม ณ สถานที่ต่างกัน และการวิเคราะห์หาส่วนเหลื่อมการตลาดที่ผู้ค้าหอยนางรมแต่ละระดับได้รับ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองส่วนตามชนิดของหอย คือ ระบบการตลาดหอยนางรมเล็กในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี และตราด ซึ่งจัดเป็นแหล่งการผลิตและแหล่งการตลาดที่สำคัญของหอยนางรมเล็ก อีกส่วนหนึ่งคือ ระบบการตลาดหอยนางรมใหญ่ในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหอยนางรมใหญ่ที่สำคัญที่สุดในประเทศ
ผลการศึกษาระบบตลาดหอยนางรมเล็กพบว่า โครงสร้างการตลาดมีลักษณะผู้ขายน้อยราย ผู้ค้าหอยนางรมเล็กประกอบด้วยนายหน้า ผู้รวบรวม ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก นายหน้าจะเป็นตัวแทนในการจำหน่ายหอยนาวรมเล็กทั้งเปลือกของผู้เลี้ยง โดยคิดค่านายหน้ากระสอบละ 30 บาท (หอยเปลือก 1 กระสอบหนักประมาณ 100 กิโลกรัม) ส่วนผู้รวบรวมผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก จะซื้อหอยเปลือกมาแกะเนื้อขายในรูปเนื้อหอยแกะสด เนื่องจากได้กำไรสุทธิดีกว่า การจำหน่ายหอยนางรมเล็กนี้ต้องอาศัยลูกค้าประจำถึงร้อยละ 71.05 จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดนอกเหนือจากอุปสรรคด้านเงินทุนในการประกอบธุรกิจ จากการศึกษาความแตกต่างของราคาขายส่งหอยนางรมเล็กแกะสดในจังหวัดชลบุรีและตราดเยาวราช กรุงเทพฯ พบว่าราคาต่างกันเป็นร้อยละ 16.67 ของราคาขายส่งที่กรุงเทพฯ ส่วนเหลื่อมการตลาดที่ผู้ค้าได้รับค่อนข้างสูง โดยมีส่วนเหลื่อมสุทธิเป็นร้อยละ 12.58 ของราคาขายส่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งแสดงถึงการขาดประสิทธิภาพของระบบตลาด ผู้บริโภคจึงต้องจ่ายเงินซื้อเนื้อหอยนางรมเล็กแกะสดในราคาสูง การปรับปรุงประสิทธิภาพการตลาด โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนทางด้านข่าวสารการตลาด จะช่วยให้ส่วนเหลื่อมการตลาดและราคาลดลง จูงใจให้คนหันมาบริโภคมากขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงแก่ความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากหอยนางรมเล็กได้ในลักษณะอื่นๆ นอกไปจากเนื้อหอยแกะสด เช่น การแปรรูปหอยนางรมเล็กในลักษณะต่างๆ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ของหอยนางรมเล็กในระดับฟาร์มอีกทางหนึ่ง
ผลการศึกษาระบบตลาดหอยนางรมใหญ่ พบว่า มีโครงสร้างการตลาดแบบผู้ขายน้อยรายเช่นกัน ผู้ค้าซึ่งมีบทบาทสำคัญได้แก่ ผู้รวบรวมและผู้ค้าส่ง โดยผู้รวบรวมเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ด้วย หอยนางรมใหญ่จะถูกจำหน่ายในลักษณะหอยทั้งเปลือกมาก และไม่พบวางขายในตลาดสดในระยะที่ทำการศึกษา ผู้ค้าจะส่งหอยให้แก่ภัตตาคารโดยตรง การค้าหอยนางรมใหญ่จึงต้องอาศัยลูกค้าประจำร้อยละ 85.95 ผู้ค้ารายใหม่ที่เข้ามาในตลาดต้องมีเงินทุนสูง เนื่องจากหอยนางรมมีราคาแพง ทั้งนี้พบอุปสรรคที่สำคัญ คือ ระบบลูกค้า ระบบลูกค้าประจำ การศึกษาความแตกต่างของราคาหอยนางรมใหญ่ที่จังหวัดสุราษฎ์ธานีกับตลาดเยาวราช กรุงเทพฯ พบว่า เป็นร้อยละ 25 ของราคาขายส่งที่กรุงเทพฯ โดยส่วนเหลื่อมสุทธิของผู้ค้าคิดเป็นร้อยละ 12.38 ของราคาขายส่งที่กรุงเทพฯ เมื่อพิจารณาด้านส่วนเหลื่อมการตลาดพบว่าผู้ค้าได้รับส่วนเหลื่อมการตลาดไม่มากนัก แต่ส่วนเหลื่อมของผู้เลี้ยงสูงมากคิดเป็นร้อยละ 45.54 ของราคาขายส่ง แสดงว่าราคาหอยนางรมที่สูง เนื่องมาจากราคาที่ผู้เลี้ยงได้รับส่ง ถ้ามีการปรับปรุงด้านการเลี้ยงหอยนางรมใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น และใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการช่วยลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการบริโภคมากขึ้นเพื่อเพิ่มแรงผลักดันต้นทางด้านอุปสงค์ของสินค้า อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการเพิ่มปริมาณซื้อขาย เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้ามาเลี้ยงหอยนางรมใหญ่มากขึ้น อันจะช่วยทำให้ส่วนเหลื่อมของผู้เลี้ยงและราคาลดลงไว้ ในระยะยาวยังมีช่องทางที่จะสนับสนุนการส่งออกหอยนางรมใหญ่อีกด้วย