ผลของยาสลบบางชนิดที่มีต่อการขนส่งลำเลียงปลาตะเพียนขาว
ทัศนัย อ่องสาคร
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2526. 70 หน้า.
2526
บทคัดย่อ
การทดสอบยาสลบ MS-222 และ teriary amyl alcohol กับปลาตะเพียนขาว (Puntius gonionotus Bleeker) ซึ่งมีความยาว 1.5 – 2.5 cm. ปรากฏว่า ค่า 24-h LC50 ที่ 30°C ของ MS-222 และ teriary amyl alcohol ที่ช่วงแห่งความเชื่อมั่นที่ 95% มีค่าเท่ากับ 71 (69.5-72.5) และ 1,980 (1,948.8-2,011.7) ppm. ตามลำดับ และพบว่าค่า 24-h LC 50 และ 96-h LC50 มีค่าเท่ากัน
อาการสลบของปลานะเพียนขาวที่เกิดจาก MS-222 และ tertiary amyl alcohol มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีลำดับขั้นของการสลบแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มีอาการมึนงง (sedation) ระยะที่ 2 มีการเสียสมดุลบางส่วนในขณะเคลื่อนที่ (partial loss of equilibrium) ระยะที่ 3 เสียสมดุลทั้งหมดและหยุดเคลื่อนที่ (total loss of equilibrium) ระยะที่ 4 เสียสมดุลทั้งหมดและไม่เคลื่อนไหว (loss of reflex activity) และระยะที่ 5 เป็นระยะที่หยุดหายใจ (medullary collapse) ความเข้มข้นของ MS-222 และ tertiary amyl alcohol ที่ทำให้ปลาตะเพียนขาวเกิดอาการมึนงง (sedation) มีค่าเท่ากับ 50-55 ppm. และ 900 ppm. ตามลำดับ
ผลจากการศึกษาพบว่ายาสลบ MS-222 และ tertiary amyl alcohol) สามารถจะนำมาใช้ในการขนส่งปลานะเพียนขาวแทนการอัดออกซิเจนได้โดยไม่จำเป็นต้องอัดออกซิเจนสมทบ โดยเฉพาะ tertiary amyl alcohol เป็นยาสลบที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการอัดออกซิเจน และเหมาะสมที่จะใช้เป็นยาสลบในการขนส่งปลา