การสะสมของโลหะหนักในเนื้อปลาปลานิล (Oreochromis niloticus (Linnaeus)) ที่เลี้ยงในบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองเพชรบุรี
จารวี เอียดสุย
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541. 91 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
การสะสมของโลหะหนักในเนื้อปลาปลานิล (Oreochromis niloticus (Linnaeus)) ที่เลี้ยงในบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองเพชรบุรี
การศึกษาการสะสมของโลหะหนัก ในเนื้อปลานิลที่เลี้ยงในบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองเพชรบุรี วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 5 วิธีการทดลอง 3 ซ้ำ โดยทำการทดลองเลี้ยงปลานิลในกระซังในบ่อบำบัดน้ำเสีย จำนวน 5 บ่อ บ่อละ 3 กระซัง ระยะเวลาทดลอง 180 วัน ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักในเนื้อปลานิลก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง และหลังจากที่เลี้ยงปลาเป็นระยะเวลา 60, 120 และ 180 วัน โดยตรวจหาโลหะหนัก 6 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และอาร์เซนิกผลการศึกษาพบว่าปริมาณของปรอท มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ น้อยกว่า 0.02 ppm ส่วนนิกเกิลมีค่ามากที่สุดคือ 1.75 ppm รองลงมาคือ โครเมียม ตะกั่ว แคดเมียม และอาร์เซนิกซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.17 น้อยกว่า 0.05, 0.47 และ 0.25 ppm ตามลำดับ อัตราการสะสมของปรอทและตะกั่วในเนื้อปลานิลเป็นไปในอัตราเดียวกับการเจริญเติบโตของปลา จึงทำให้มีค่าเฉลี่ยคงที่ตลอดการทดลอง ส่วนแคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และอาร์เซนิกพบว่าอัตราการสะสมของโลหะทั้ง 4 ชนิด มีอัตราสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของปลานิล ทำให้พบโลหะหนักเหล่านี้ในปริมาณมากขึ้นในปลานิลที่โตขึ้น โดยการสะสมของโครเมียมและนิกเกิลมีแนวโน้มที่สะสมในอัตราที่สูงกว่าแคดเมียมและอาร์เซนิก ปริมาณของโลหะหนักทั้ง 6 ชนิด ที่ตรวจพบในปลานิลที่เลี้ยงในบ่อบำบัดน้ำเสียครั้ง มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุข