แบบจำลองอุปสงค์และอุปทานไก่เนื้อแช่แข็งของไทย
ศศิวิมล พงศ์ประยูร
วิทยานิพนธ์ (บธ.ม. (บริหารธุรกิจ)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2531. 163 หน้า.
2531
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการผลิตไก่เนื้อของไทยและตลาดส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดญี่ปุ่น 2) เพื่อสร้างแบบจำลองทางเศรษฐมิติ แสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน คือ แบบจำลองอุปสงค์ อุปทานไก่เนื้อของไทย (simultaneous equation model) เพื่อกะประมาณและวิเคราะห์ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการผลิต อุปสงค์ภายในประเทศ และอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งของไทยไปประเทศญี่ปุ่น 3) เพื่อศึกษาถึงผลกระทบเนื่องจากการลดอัตราภาษีการนำเข้าไก่เนื้อถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่นต่ออุปทาน อุปสงค์ภายในประเทศ อุปสงค์ไก่เนื้อแช่แข็ง เพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่น และราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งที่ปรับแล้วของไทย และ 4) เพื่อทำการพยากรณ์ปริมาณการผลิตอุปสงค์ภายในประเทศ อุปสงค์เพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่น และราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งที่ปรับแล้วของไทย ปี 2530- 2534
วิธีการศึกษาเป็นทั้งการศึกษาเชิงพรรณนาและเชิงปริมาณ โดยศึกษาสภาพทั่วไปของการผลิตและการตลาดไก่เนื้อไทย และวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐมิติโดยการกะประมาณอุปสงค์ อุปทานไก่เนื้อแช่แข็งด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบสอนชั้น และใช้วิธีชิมูเลชั่น ศึกษานโยบายกรณีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีการนำเข้าเนื้อไก่ถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น และทำการพยากรณ์อุปสงค์และราคาของไก่เนื้อแช่แข็งที่ปรับแล้วของไทย
ผลการศึกษา พบว่า ความยืดหยุ่นของอุปทานการผลิตไก่เนื้อไทยต่อราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นปีที่ปรับแล้ว ต่อราคาอาหารสัตว์ที่ปรับแล้ว และต่อปริมาณการนำเข้าแม่พันธุ์และย่าพันธุ์ไก่เนื้อในปีที่แล้ว มีค่าเท่ากับ 0.0503, -2,8931 และ 0.1110 ตามลำดับ สำหรับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ภายในประเทศต่อราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ปรับแล้ว และต่อรายได้ประชาชาติต่อหัวที่แท้จริงของไทย มีค่าเท่ากับ -0.5475 และ 4.8132 ตามลำดับ และความยืดหยุ่นของอุปสงค์เพื่อการส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ต่อราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ปรับแล้ว ต่อรายได้ประชาชาติต่อหัวที่แท้จริงของญี่ปุ่น และต่ออัตราภาษีนำเข้าไก่เนื้อถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น มีค่าเท่ากับ -0.2961, 8.7334 และ -1.2082 ตามลำดับ
สำหรับผลการศึกษาการเปลี่ยนอัตราภาษีการนำเข้าไก่เนื้อถอดกระดูกของประเทศญี่ปุ่น เมื่อให้อัตราภาษีลดลงร้อยละ 10 พบว่า ปริมาณการผลิต อุปสงค์ภายในประเทศ อุปสงค์เพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.60, 5.60 และ18.6 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ปรับแล้ว เฉลี่ยลดลงร้อยละ10.09 และ เมื่อพิจารณาสวัสดิการสังคมสุทธิจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 1,738.08 ล้านบาท
ผลการพยากรณ์ปรากฏว่าในช่วงปี 2530 – 2534 มีปริมาณการผลิตไก่เนื้อโดยเฉลี่ยปีละ 686.7411 ล้านตัน อุปสงค์ไก่เนื้อภายในประเทศโดยเฉลี่ยปีละ 686.6800 ล้านตัน อุปสงค์ไก่เนื้อเพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยปีละ 0.061055 ล้านตัน และราคาส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ปรับแล้ว เฉลี่ยปีละ 15.43 บาท/กก.