บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์การส่งออกของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทยในตลาดโลกและตลาดญี่ปุ่น

จีระนัย ประทีป

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 141 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์การส่งออกของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทยในตลาดโลกและตลาดญี่ปุ่น วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อศึกษาสภาพตลาดผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นวิเคราะห์ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏของประเทศไทย และประเทศคู่แข่งที่สำคัญในสินค้าไก่แปรรูปแช่แข็ง วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่น และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์การนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อ

ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทย

การวิเคราะห์ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ ปรากฏผลดังนี้ คือ ในช่วงปี 2534-2536, 2537-2539 และ 2540-2541 ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในแปรรูปแช่แข็งเท่ากับ 1.11, 2.07 และ 1.48 ตามลำดับ ส่วนประเทศจีนมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบกับ 1.16, 1.19 และ 0.95 ตามลำดับ

ส่วนการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาดด้วยแบบจำลองส่วนแบ่งการตลาดคงที่สำหรับไก่แปรรูปแช่แข็งพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกของค่าเฉลี่ยปี 2537-2539 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2534-2536 คือ ผลจากการปรับการส่งออกถูกหรือผิดทิศทาง รองลงมาเป็นผลจากการแข่งขัน ผลจากการกระจายตลาด และผลจากอัตราการขยายตัวของตลาดโลก มีค่าเท่ากับ 1,690.91, 667.97, 410.87 และ 310.73 ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยของปี 2540-2541 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2537-2539 คือ ผลจากการแข่งขัน รองลงมาเป็นผลจากอัตราการขยายตัวของตลาดโลก ผลจากการกระจายตลาด และผลจากการปรับการส่งออกถูกหรือผิดทิศทาง มีค่าเท่ากับ 6,128.25, 276.98, -1,149.77 และ –1,222.28 ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์การนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทยคือ ราคานำเข้าของประเทศญี่ปุ่นในผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทยปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ ราคานำเข้าของประเทศญี่ปุ่นในผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของประเทศคู่แข่ง (ประเทศจีน) ปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง บาท/เยน กับ หยวน/เยน และรายได้ประชาชาติของประเทศญี่ปุ่นปรับด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น ค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์การนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็งของไทยที่มีต่อปัจจัยเหล่านี้มีค่าเท่ากับ-0.5799, 0.4037, -0.2613 และ 0.4195 ตามลำดับ

ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ 1) ควรเน้นเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็ง 2) มีการพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น 3) ควรรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน 4) ผู้ส่งออกไม่ควรแข่งขันด้านราคาโดยตัดราคากันเอง ทั้งผู้ส่งออกภายในประเทศและประเทศคู่แข่งขัน