การวิเคราะห์อุปสงค์การบริโภคเนื้อสุกรในประเทศไทย
นิยม ชื่นนิรันดร์
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2527. 118 หน้า.
2527
บทคัดย่อ
ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรในประเทศต่อคนตามอาชญาบัตร ซึ่งไม่รวมปริมาณฆ่าเถื่อน ในช่วงระหว่างปี 2508 ถึงปี2522 เฉลี่ยเท่ากับ 1.59 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี โดยประชากรในเขตภาคกลางมีการบริโภคมากกว่าภาคอื่นๆ คือ ประมาณ 4.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ถ้าปรับด้วยปริมาณสุกรที่ฆ่าเถื่อนด้วยแล้ว ปริมาณการบริโภคจะเพิ่มสูงขึ้น คือเฉลี่ยทั้งประเทศ เท่ากับ 4.46 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี และเฉพาะภาคกลางเฉลี่ย 12.21 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าปริมาณการฆ่าตามอาชญาบัตรทั้งประเทศในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ และไม่สอดคล้องกับกับปริมาณการผลิตในแต่ละปี เช่น ปริมาณการผลิตสุกรในปี 2516เพิ่มขึ้นจากปี 2515 ประมาณร้อยละ 12 แต่ปริมาณการบริโภคลดลงร้อยละ 9.9 จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าให้เห็นว่า จำนวนสุกรที่ถูกฆ่าเป็นอาหารโดยเสียอาชญาบัตรนั้นต่ำกว่าปริมาณที่ฆ่าจริง ซึ่งหมายความว่า มีการลักลอบฆ่าเถื่อน กับอยู่ทั่วไปแทบทุกภูมิภาค
ในด้านการส่งออกสุกรมีชีวิตนั้น ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ฮ่องกง ปริมาณการส่งออกไม่ค่อยแน่นอน กล่าวคือ ประเทศไทยเคยส่งได้มากที่สุดในปี พ.ศ. 2505 จำนวน 110,007 ตัว มีมูลค่าการส่งออกกว่า 69 ล้านบาท อุปสรรคที่สำคัญในการส่งออกคือ ปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งต่างประเทศถือว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆจึงไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อสัตว์ประเภท โค กระบือ และสุกร จากประเทศไทย
ในด้านการผลิตนั้น จำนวนสุกรที่เลี้ยงในแต่ละปีมีไม่แน่นอนปี พ.ศ. 2520 มีการเลี้ยงสุกรมากที่สุด เท่ากับ 4.4 ล้านตัว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนสุกรที่เลี้ยงต่อจำนวนประชากร 1 คน ปรากฏว่า มีอัตราส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี 2508 – 2521 จำนวนสุกรต่อจำนวนประชากร 1 คน ลดลงร้อยละ 3.31 ต่อปี ในขณะที่รายได้ต่อบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.48 ต่อปี
ราคาสุกรจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามวัฏจักรวงจรละ 4 ปี เมื่อราคาสุกรลดลงถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงระยะเวลา 2 ปี ราคาสุกรก็จะเริ่มขึ้นอีก
สำหรับปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรเฉพาะที่ฆ่าโดยเสียอาชญาบัตร ปรากฏว่าภาคกลางเป็นภาคที่มีการบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุดกล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2522 ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรในภาคกลางที่เท่ากับ 2.29 ล้านตัว ภาคเหนือมีการบริโภค 0.54 ล้านตัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 0.43 ล้านตัว และภาคใต้เท่ากับ 0.39 ล้านตัว แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเนื้อสุกรที่บริโภคต่อคนต่อปีแล้ว ปรากฏว่าภาคกลางเป็นภาคที่มีการบริโภคสูงกว่าทุกภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการบริโภคต่ำที่สุด กล่าวคือ ภาคกลางมีค่าเท่ากับ 4.5 ก.ก. ภาคใต้เท่ากับ 1.89 ก.ก. ภาคเหนือ 0.75 ก.ก. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 0.66 ก.ก. ตามลำดับ
ผลการวิเคราะห์อุปสงค์การบริโภคเนื้อสุกร ปรากฏว่า ทุกภาคให้สมการอุปสงค์ที่มีค่าความสัมพันธ์ระหว่าง ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกร กับตัวแปรอิสระทุกตัว สอดคล้องกับทฤษฎีการบริโภค กล่าวคือ ภาคเหนือให้ค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นต่อราคาสุกรเท่ากับ -1.95 ต่อราคาเนื้อไก่ เท่ากับ 1.76 และต่อรายได้เท่ากับ 0.84 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกร เท่ากับ-0.96 ต่อราคาเนื้อไก่ เท่ากับ 0.37 และต่อรายได้เท่ากับ 1.01 ภาคกลางให้ค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกร เท่ากับ -0.92 ต่อราคาเนื้อโคเท่ากับ 0.28 และต่อรายได้เท่ากับ 0.78 ภาคใต้ให้ค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นต่อราคาเหนือสุกรเท่ากับ -0.15 ต่อราคาเนื้อโค เท่ากับ 0.86 และต่อรายได้ เท่ากับ 2.85 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกันทั้ง 4 ภาคแล้ว ปรากฏว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกรและต่อราคาเนื้อไก่สูงกว่าทุกภาค ภาคใต้เป็นภาคที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกรต่ำที่สุดและการทดแทนมีน้อยที่สุด แต่มีค่ายืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกรใกล้เคียงกันแต่ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าสูงกว่าภาคกลาง ทั้งนี้เนื่องจากกลางเป็นภาคที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสุกรต่อคน ต่อปี สูงกว่าทุกภาค กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 บริโภคเท่ากับ 4.5 ก.ก. ต่อคนต่อปี ในขณะที่การบริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านี้มาก
ผลการคาดคะเนปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสุกรซึ่งรวมทั้งเนื้อสุกรที่ถูกฆ่าเถื่อนแล้วในระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2524-2530 ปรากฏว่าภาคกลางเป็นภาคที่มีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรสูงสุด กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2530 มีความต้องการบริโภคเท่ากับ 13.5 ล้านตัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความต้องการบริโภคต่ำสุด คือ 2.8 ล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 21.02 ของปริมาณความต้องการเท่ากับ 3.3 ล้านตัว ตามลำดับ สำหรับผลการคาดคะเนดังกล่าวข้างต้นนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติได้คาดคะเนไว้ ปรากฏว่า ค่าที่คาดคะเนอยู่ในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากการคาดคะเนปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในอนาคตที่มีอาศัยตัวเลขค่าใช้จ่ายของครอบครัวเป็นหลักในการคำนวณ ส่วนปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรที่ศูนย์วิจัยได้รวบรวมไว้นั้น จำกัดขอบเขตเฉพาะเนื้อสุกรที่ทำการซื้อขายกันในตลาดค้าปลีกเท่านั้น ดังนั้นจำนวนการคาดคะเนที่สูงกว่านี้จึงเป็นปริมาณเนื้อสุกรที่เกิดจากการค่าเถื่อนเป็นครั้งคราวกระจัดกระจายอยู่ตามชนบททั่วไป ซึ่งไม่ผ่านระบบค่าปลีก
ผลการศึกษาดังกล่าวพอสรุปได้ว่า การเพิ่มปริมาณการผลิตสุกรเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในภาคต่างๆนั้น ควรให้ความสำคัญกับภาคใต้และภาคเหนือก่อน ทั้งนี้ภาคใต้ราคาเนื้อสุกรมีการเคลื่อนไหวรุนแรงมาก หากประมาณสุกรเปลี่ยนแปลงไป แต่เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ต่อความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในภาคใต้ อยู่ในระดับที่สูงมากหากเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ จึงมีผลให้อัตราการเพิ่มความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในภาคนี้มีสูงกว่าทุกภาค ประกอบกับปริมาณการเลี้ยงสุกรในภาคนี้ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าทุกภาค กล่าวคือใน พ.ศ. 2521 สุกรที่เลี้ยงในภาคใต้มีเพียง 0.75 ล้านตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 15.24 ของจำนวนสุกรที่เลี้ยงทั่งประเทศเท่านั้น สำหรับในภาพเหนือนั้นราคาเนื้อสุกรจะไม่เคลื่อนไหวรุนแรงมากเกินไปถ้าหากปริมาณเนื้อสุกรเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เนื่องจากความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกรในภาคเหนือมีสูง การที่ราคาเนื้อสุกรต่ำลงเพียงเล็กน้อย ย่อมจะทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการบริโภคเนื้อสุกรในสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโดยตรง