บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์อุปสงค์การบริโภคเนื้อโคและกระบือในประเทศไทย

พัฒนพงษ์ ภู่สุวรรณ

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เศรษฐศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก , 2537. 92 หน้า.

2537.

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์อุปสงค์การบริโภคเนื้อโคและกระบือในประเทศไทย  วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่ออุปสงค์การบริโภคเนื้อโคเนื้อกระบือภายในประเทศ และเพื่อประมาณหาค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ในการบริโภคเนื้อโค- กระบือ อันเนื่องมาจาก ราคาของเนื้อโค-กระบือ รายได้และราคาสินค้าทดแทนกันได้

วิธีการศึกษาใช้วิธีวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงซ้อน วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลแบบทุติยภูมิ แบบอนุกรมเวลา ตั้งแต่ปี 2520-2535 รวมระยะเวลา 16 ปี โดยเก็บรวมรวมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเทคนิคในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรผันต่างๆ ที่ปรากฏในแบบจำลอง ใช้เทคนิคแบบกำลังสองน้อยที่สุด โดยมีสมมติฐานว่า ปริมาณการบริโภคเนื้อโค – กระบือ ต่อคน(Q) ขึ้นอยู่กับราคาขายปลีกเนื้อโค – กระบือ (P1) ราคาขายปลีกเนื้อสุกร(P2) ราคาขายปลีกเนื้อไก่ (P3) และรายได้ถัวเฉลี่ยต่อคนต่อปี (I) โดยใช้แบบจำลอง 3 รูปแบบ ซึ่งในการคำนวณได้แยกออกเป็นรายภาค และทำการสับเปลี่ยนตัวแปรอิสระคือราคาสุกรและไก่

จากผลการศึกษาปรากฏว่าในภาคกลาง ความยืดหยุ่นต่อราคา เนื้อโค – กระบือ เท่ากับ -1.20 ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อไก่เท่ากับ 0.28 และความยืดหยุ่นต่อรายได้เท่ากับ -0.51 สำหรับในภาคเหนือ ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาในภาคนี้เท่ากับ 0.30 ความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อไก่ เท่ากับ -0.49 และค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้เท่ากับ 0.46 สำหรับผลการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเท่ากับ -0.71 ค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อไก่เท่ากับ -0.06 และค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้มีค่าเท่ากับ 0.79 ผลการศึกษาในภาคใต้ ความยืดหยุ่นต่อราคามีค่าเท่ากับ -0.38 และค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อสุกรเท่ากับ -0.36 ส่วนความยืดหยุ่นต่อรายได้ในภาคนี้ไม่มีนัยสำคัญ

การวิเคราะห์แบบจำลองสมการการบริโภคเนื้อโค – กระบือ ในประเทศไทยในวิทยานิพนธ์นี้ปรากฏว่าค่าของสมการที่คำนวณได้ยังมีค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรบางค่าไม่สามารถอธิบายได้ เช่นค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ในภาคกลางและค่าความยืดหยุ่นต่อราคาเนื้อไก่ในภาคเหนือซึ่งมีค่าติดลบ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากข้อมูลด้านการบริโภคเนื้อโค-กระบือ ในประเทศยังไม่สมบูรณ์ และแหล่ง้อมูลมีน้อยหรืออาจเกิดจากปัญหาด้านการปรับข้อมูลจากตัวประกอบการแก้ไข (correction factor)ที่ใช้ข้อมูลเพียงปีเดียวที่มีการสำรวจ และยังมีการลักลอบนำเข้าโค – กระบือ จากต่างประเทศอยู่เสมอจึงทำให้แบบจำลองมาสมบูรณ์เท่าทีควร จึงควรที่จะหาทางแก้ไขในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์โค – กระบือ เพื่อให้ได้ผลผลิตเนื้อโคคุณภาพสูง ทดแทนการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศและควรมีการสำรวจรายการใช้จ่ายของครอบครัวด้านการบริโภคเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยนี้ในอนาคตต่อไปนี้ต่อไป