อิทธิพลของพันธุ์ อายุ เพศ และการตอนที่มีผลต่อลักษณะซากและส่วนประกอบของซากรวมทั้งแนวทางการตลาดโคเนื้อในภาคกลาง
สกล ไข่คำ
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2522. 157 หน้า.
2522
บทคัดย่อ
การศึกษาได้เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2521 ทำการศึกษาโดยใช้โคที่ทำการเลี้ยงและชำแหละตามสภาพทั่วไปในเมืองไทย ณ ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โคทั้งหมด 48 ตัว ได้แก่ โคพันธุ์พื้นเมือง โคลูกผสมพื้นเมืองกับอเมริกันบราห์มัน และพื้นเมืองกับชาร์โรเล่ส์ แบ่งเป็น 4การทดลอง โดยโคทั้งหมดได้รับการเลี้ยงดูแบบเดียวกันโดยปล่อยเลี้ยงในทุ่งหญ้าธรรมชาติที่ไม่ได้รับการปรับปรุง คงได้รับแต่ฟางข้าว หรือข้าวฟ่างหมัก เสริมในฤดูแล้งเพื่อไม่ให้โคสูญเสียน้ำหนัก ส่วนเกลือแร่และน้ำให้กินตลอดปี
การทดลองที่ 1 เปรียบเทียบลักษณะซากและส่วนประกอบของซากในโคเพศผู้ทั้ง 3 พันธุ์ ดังกล่าวซึ่งมีอายุ 2.5 ปีและ 5 ปี พบว่าโคลูกผสมบราห์มันมีลักษณะเหล่านี้สูงที่สุด แต่ต่ำที่สุดในโคพันธุ์พื้นเมือง (p <0.01) และโคอายุ 5 ปีมีค่าสูงกว่าโคอายุ 2.5 ปี (p <0.01) โดยโคทั้ง 3 พันธุ์เรียงลำดับตามข้างต้น อายุ 2.5 ปี ให้เนื้อแดงทั้งหมดโดยเฉลี่ย 56.43 , 131.50 , และ 112.55 กิโลกรัมหรือ 35.43 ,40.69 และ 36.99 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเมื่อมีชีวิตตามลำดับ ส่วนโตอายุ 5 ปี ให้เท่ากับ 139.50 , 227.69 และ 217.98 กิโลกรัมหรือ 41.19 , 44.67 และ 43.20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตามลำดับ
การทดลองที่ 2 เปรียบเทียบลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 ในโคพันธุ์พื้นเมืองเพศผู้ เพศผู้ตอน อายุ 2.5 ปี พบว่าการตอนไม่มีผลต่อลักษณะซากและส่านประกอบของซากในโคพันธุ์พื้นเมือง แต่โคลูกผสมพันธุ์บราห์มันเพศผู้ตอนมีลักษณะเหล่านี้สูงที่สุด (p <0.01) โคทั้ง 3 ทรีทเมนต์ให้เนื้อแดงโดยเฉลี่ย 56.43, 68.03 และ 100.62 กิโลกรัม หรือ 35.43, 39.06 และ 37.43 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเมื่อมีชีวิตตามลำดับ
การทดลองที่ 3 เปรียบเทียบลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 ในโคพันธุ์พื้นเมืองเพศผู้ตอน เพศผู้ และเพศเมียอายุ 5 ปี พบว่าโคพันธุ์พื้นเมืองเพศผู้ให้เนื้อแดงทั้งหมดมากกว่าเพศเมีย (p <0.01) โดยเท่ากับ 139.51 และ 52.59 กิโลกรัม หรือ 41.19 และ 36.54 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวเมื่อมีชีวิตตามลำดับ แต่ไม่มีความแตกต่างกับที่ได้จากเพศผู้ตอนซึ่งเท่ากับ 124.97 กิโลกรัม หรือ 41.03 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวเมื่อมีชีวิต
การทดลองที่ 4 เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสภาพและแนวทางการตลาดโคเนื้อในภาคกลางพร้อมทั้งผลผลิตของโคต่อตัวต่อปี เพื่อทำการหาพันธุ์และอายุของโคที่เหมาะสมในการเลี้ยงส่งตลาด พบว่าพ่อค้าขายส่งหรือผู้ฆ่าในท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินการตลาดโคและเนื้อโคชำแหละระดับนี้มากที่สุด โดยทำการรับซื้อโคทำการแปรรูปเป็นเนื้อโคชำแหละเพื่อจำหน่ายต่อไป ส่วนในการเลี้ยงและซื้อขายโคลูกผสมบราห์มัน ทั้งเกษตรกรและพ่อค้าได้รับ 8.00 และ 4.27 บาทต่อกิโลกรัมของน้ำหนักโคมีชีวิตตามลำดับ ส่วนโคลูกผสมบาร์มันอายุ 5 ปี เกษตรกรและพ่อค้าได้รับ 10.00 และ 3.00 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักโคเมื่อมีชีวิตตามลำดับนอกจากนี้พบว่าโคลูกผสมบาร์มันให้ผลผลิตของโคต่อตัวต่อปีสูงที่สุดและในโคอายุ 2.5 ปีสูงกว่าโคอายุ 5 ปี (p<0.01) ดังนั้นจึงเป็นพันธุ์ที่ควรได้รับการส่งเสรอมให้มีการเลี้ยงและส่งตลาดเมื่อโคอายุประมาณ 2.5 ปี