การศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือน
สุมนา ตั้งจิตวิสุทธิ์
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541. 163 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษานี้เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อบริโภคเนื้อสัตว์ และการตอบสนองต่อรายได้ของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งคาดการณ์แนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือนโดยเน้นศึกษาเฉพาะกรณีเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่
ข้อมูลที่ใช้ได้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี พ.ศ. 2533 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ การวิเคราะห์จะพิจารณาปัจจัยด้านสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือน และพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ระดับรายได้และค่าใช้จ่าย การประมาณสมการสัดส่วนค่าใช้จ่ายเนื้อสัตว์ใช้เทคนิคกำลังสองน้อยที่สุด (Odinary Least Square : OLS) ตามรูปสมการของ Engel Curve แล้วนำผลที่ได้ไปคำนวณค่าความยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายต่อรายได้ และคาดคะเนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคเนื้อสัตว์ในอนาคต
พฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือนแตกต่างกันไปตามลักษณะชุมชนและภูมิภาค นอกจากนี้ยังสามารถใช้คุณลักษณะของหัวหน้าครัวเรือน เช่น เพศ อายุ การศึกษา และอาชีพ อธิบายความแตกต่างของการใช้จ่ายในการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือนได้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือนคือรายได้ หากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจะบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ผลการวิเคราะห์เชิงสถิติแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนในเขตชนบทมีการตอบสนองต่อรายได้ในการใช้จ่ายเพื่อบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าครัวเรือนในเขตเมือง ครัวเรือนในเขตเมืองมีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ในการค่าใช้จ่ายเนื้อไก่สูงกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัว ส่วนครัวเรือนในเขตชนบทมีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ในการค่าใช้จ่ายเนื้อไก่สูงกว่าเนื้อวันและเนื้อหมู ในปี 2553 คาดว่า ครัวเรือนในเขตเมืองมีแนวโน้มบริโภคเนื้อหมูมากกว่าในเขตชนบท แต่แนวโน้มการบริโภคเนื้อไก่และเนื้อวัวจะน้อยกว่าในเขตชนบท