บทคัดย่องานวิจัย

การใช้น้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านควบคุมด้วงถั่วเขียว, Callosobruchus maculatus (F.) (Coleoptera : Bruchidae)

นที ชาวนา และสุภาณี พิมพ์สมาน

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 35 ฉบับที่ 5-6 (พิเศษ) สิงหาคม-ธันวาคม 2547. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. หน้า 287-290.

2547

บทคัดย่อ

การใช้น้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านควบคุมด้วงถั่วเขียว, Callosobruchus maculatus (F.) (Coleoptera : Bruchidae)  ประเทศไทยมีความหลากหลายของผักพื้นบ้าน ซึ่งใช้เป็นอาหารและสมุนไพร ได้นำผักพื้นบ้าน 4 ชนิด คือ ผักชีลาว (Anethum graveolens Linn.) ผักแพว (Polygonum odoratum Lour.) ผักแขยง (Limnophila aromatice (Lamk.) Merr.) และชะพลู (Piper sarmentosum Roxb. Ex. Hunter) มาสกัดน้ำมันระเหยง่ายโดยวิธี hydrodistillation ได้ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย 0.064, 0.09, 0.24 และ 0.046% ตามลำดับ จากการทดสอบความเป็นพิษของแมลง ด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculatus (F.) (Coleoptera : Bruchidae) ในลักษณะสัมผัสตายโดยวิธี residual film test พบว่า น้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านทั้ง 4 ชนิด มีประสิทธิภาพฆ่าด้วงถั่วเขียวได้ น้ำมันระเหยง่ายจากผักชีลาว มีค่า median lethal concentration (LD50) ที่ 48 ชม. เท่ากับ 3,003 ppm รองลงมาได้แก่น้ำมันจากชะพลู (LD50 = 8,864 ppm) ผักแพว (LD50 = 18,530 ppm) และผักแขยง (LD50 = 18,721 ppm) ตามลำดับ เมื่อทดสอบด้วยวิธี impregnated filter pater test พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากผักชีลาว มีค่า LD50 = 9,483 ppm รองลงมาได้แก่น้ำมันจากชะพลู (LD50 = 10,519ppm) แล้วผักแขยง (LD50 = 10,797 ppm) ตามลำดับ ผลการศึกษาข้างต้นแสดงถึงศักยภาพของการใช้น้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านเพื่อประโยชน์ควบคุมแมลงศัตรู