บทคัดย่องานวิจัย

ผลของพันธุ์ลำไยต่อคุณภาพของผลลำไยอบแห้ง

โชคชัย ไชยมงคล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 35 ฉบับที่ 5-6 (พิเศษ) สิงหาคม-ธันวาคม 2547. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. หน้า 395-398

2547

บทคัดย่อ

ผลของพันธุ์ลำไยต่อคุณภาพของผลลำไยอบแห้ง  ทำการทดลองแปรรูปอบแห้งลำไยทั้งเปลือกพันธุ์เบี้ยวเขียว แห้ง ชมพู ดอก้านแข็ง ดอก้านอ่อนและดอใส่สารโพแตสเซียมคลอเรต โดยใช้เตากะบะแบบใต้หวัน ทำการอบตามวิธีมาตรฐาน ผลการทดลองพบว่าพันธุ์เบี้ยวเขียว มีขนาดของผลใหญ่กว่าทุกพันธุ์ทั้งผลสดและแห้ง การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของผลหลังอบแห้ง ลำไยทุกพันธุ์มีน้ำหนัดคิดเป็น 30.29-33.10% ของน้ำหนักสด จำนวนผลเฉลี่ยต่อกิโลกรัม ลำไยพันธุ์ดอก้านอ่อนให้จำนวนผลมากกว่าพันธุ์อื่นทั้งผลสดและผลแห้งคือ 96.40 และ 298.80 ผลตามลำดับ ขณะที่พันธุ์อื่นให้จำนวนผลสดเท่ากับ 59.60-82.20 และผลแห้งเท่ากับ 225.60-261.20 ผลต่อกิโลกรัม ส่วนประกอบของผลสดและแห้งพบว่าลำไยพันธุ์แห้วและดอก้านแข็งมีน้ำหนักของส่วนเปลือกสูงกว่าพันธุ์อื่นเล็กน้อย น้ำหนักเมล็ดทั้งสดและแห้งของลำไยทุกพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนน้ำหนักเนื้อลำไยสดพบว่าพันธุ์เบี้ยวเขียวมีน้ำหนักเนื้อลำไยสดสูงสุดคือ 1.13 กิโลกรัมต่อ 100 ผล และพันธุ์ดอก้านอ่อนมีน้ำหนักเนื้อลำไยต่ำสุดคือ 0.65 กิโลกรัมต่อ 100 ผล ด้านเนื้อลำไยแห้งพบว่า ลำไยพันธุ์ดอใส่สารโพแตสเซียมคลอเรตและพันธุ์ดอก้านอ่อนให้น้ำหนักต่ำกว่าพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะสีของเปลือกและเนื้อหลังการอบแห้ง พบว่าลำไยพันธุ์ดอก้านแข็งและพันธุ์แห้วมีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด